10 ข้อข้างล่างนี้ กลั่นมาจากประสบการณ์ถ่ายภาพแลนด์สเคปของผมตลลอด 12 ปีที่ผ่านมาครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะครับ
1. รู้จักตัวเอง
ควรรู้ว่าเราชอบถ่ายอะไรเป็นพิเศษ ถ่ายแลนด์สเคปมีทั้งป่าไม้ ภูเขา ทะเล ทะเลทราย หิมะ น้ำตก ถ้ำ ดอกไม้ และอื่นๆอีกมาก ลองทบทวนตัวเอง ตรึกตรองดูว่า เราชอบไปที่ไหน ฤดูไหนเป็นพิเศษ และโฟกัสไปที่นั้นๆ และเราจะดื่มด่ำ สนุกสนานไปกับการถ่ายรูปมากๆ และแน่นอนว่าเมื่อมีความสุขกับการถ่ายภาพแล้ว ภาพย่อมดีเสมอ
2.ทำการบ้านไปก่อนเสมอ
สมัยนี้โลกอินเตอร์เนตมีข้อมูลมากมายมหาศาล ก่อนไปที่ใดที่นึง เราสามารถดูได้เลยว่ามุมมองไหนน่าสนใจบ้าง ทำให้เราได้ไอเดียว่าเราจะไปถ่ายอะไรบ้าง ส่วนมากผมก็จะเข้าไปดูใน flickr และ 500px เพราะส่วนมากช่างภาพดังๆจะโพสรูปในสองเวบนี้มากครับ ถ้าใช้ 500px อย่าลืมเรียงลำดับภาพตาม max pulse ด้วยนะครับ
3. อย่าไปตรงเวลา ให้ไปก่อนเวลา
อย่าลืมว่า เราต้องใช้เวลาเซตกล้อง ตั้งขา วัดแสง ทำความคุ้นเคยกับสถานที่ เช่น พระอาทิตย์ตกหกโมงเย็น ถ้าไปก่อนเวลา 5 นาที คุณก็ไม่มีทางได้ภาพแน่นอน และอย่าลืมว่า อาจจะมีช่างภาพคนอื่นมาก่อนเรา และจองมุมที่ดีที่สุดไปแล้ว ถ้ามุมมันแคบมากๆ ถ่ายได้คนสองคน เราก็ต้องเคารพกติกา ให้สิทธิ์กับคนที่มาก่อนครับ ปกติผมจะไปก่อนเวลาสักหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อยครับ
การที่เราอยู่ในสถานที่ที่คนนิยมไปกัน (เรียกง่ายๆว่ามุมมหาชน) แล้วจะได้ภาพแตกต่างจากคนอื่น ไม่ใช่แค่เราต้องได้สภาพอากาศและสภาพแสงที่ดีกว่าเท่านั้น แต่มุมมองและเทคนิคการถ่ายภาพควรมีความแตกต่างอีกด้วย แม้ว่าเราจะทำการบ้านหาจุดถ่ายภาพที่พอใจมาตั้งแต่ก่อนมาแล้ว เมื่อมีเวลาก่อนหน้าสัก 1-2 ชั่วโมง ผมก็จะติดนิสัยเดินรอบๆเมื่อเวลามาถึงสถานที่จริง เผื่อจะเจอมุมที่น่าสนใจกว่า หรือ composition ที่คนอาจจะมองข้ามไป
และยิ่งถ้าเราวางแผนการเดินทางให้หลวมๆ จะทำให้เรามีเวลาเดินสำรวจรอบๆ ในแต่ละครั้งที่ออกทริปถ่ายภาพ ผมจะใช้เวลาช่วงสายๆหลังจากถ่ายแสงเช้าเสร็จแล้ว ออกเดินหามุมเพิ่มเติม สำหรับถ่ายแสงเย็น เพราะยังไงแสงเที่ยงๆมันเป็นแสงที่แข็ง มันยากที่จะได้ภาพที่สวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ ใช้เวลาตรงนี้เดินสำรวจหามุม เตรียมพร้อมสำหรับตอนเย็นดีกว่า จะได้ไม่ต้องรีบร้อนเมื่อถึงเวลาจริงๆ
4. อ่านแผนที่ให้เป็น
ช่างภาพที่เก่งมากๆอย่าง Marc Adamus เขาอ่านแผนที่เก่งมาก โดยเฉพาะแผนที่ topographic map ที่ระบุความสูงต่ำของภูเขา เพียงแค่มองแผนที่ มาร์คสามารถจินตนาการออกมาได้เลยว่ามุมนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร ภูเขาอยู่ด้านไหน ทะเลสาบวางตัวยังไง มุมลงตัวหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เขาสามารถอ่านขาดเลยว่า ถ้าพระอาทิตย์ตกมาทางนี้ เขาลูกนี้อยู่ด้านซ้าย แสงจะโดนเขาอีกลูกที่อยู่ทางขวาบังแสงไหม โดยดูจากระดับความสูงและรูปร่างของภูเขาที่ปรากฏในแผนที่ ด้วยทักษะแบบนี้ ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลาเดินไปสำรวจทุกซอกทุกมุม แค่เลือกจุดที่เขาคิดว่า “น่าจะสวย” และมีความเป็นไปได้ที่จะได้ภาพสวยก็พอ เทพมากจริงๆ ขอกราบ
สำหรับผม แค่อ่านแผนที่ให้ออกว่าแสงจะเข้าด้านไหนก็ดีมากพอแล้วครับ
5. เป็นคนช่างเลือก
ผมมักจะบอกช่างภาพที่รู้จักกันเสมอว่า ต้องเป็นคนช่างเลือก อย่าถ่ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ให้เปลี่ยนตัวเอง กลายเป็นช่างภาพเลือก subject เลือกแสง อะไรไม่สวย ไม่ต้องถ่าย แสงไม่สวย ไม่ต้องเสียเวลาเซตกล้อง ฉะนั้น เราต้องรู้จักองค์ประกอบก่อนถ่าย ว่าแสงอย่างนี้สวยพอหรือยัง subject ดีพอไหม ถ้าไม่ดีพอ เราก็ไม่ต้องเสียเวลากับมัน เอาเวลาไปเดินหามุมอย่างอื่นได้
อะไรที่มันไม่สวย ไม่ต้องไปทนถ่ายมันนะครับ บางทีอะไรที่คนมุงถ่ายกันเยอะๆ ไม่จำเป็นว่ามันต้องดีที่สุดเสมอไป
6. ไม่ต้องกลัวเปียก
ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเอากล้องไปลุยน้ำนะครับ ตัวเราเปียกได้ แต่อย่าให้กล้องเปียก มุมบางมุมที่ดีๆ ต้องลงไปถ่ายกลางลำธาร ขาจุ่มน้ำ หรือถ่ายจังหวะคลื่นซัด หลายๆครั้งที่ผมได้ฟ้าสวย มักจะมาหลังจากฝนตก ผมมักพกร่ม หรือผ้าคลุมกันฝนไว้ในกระเป๋ากล้องตลอดเพื่อเตรียมบังฝนให้กล้อง ส่วนตากล้องจะเปียกก็ไม่เป็นไร ฉะนั้นถ้าเราเตรียมพร้อมแล้ว เราก็จะได้ภาพดีๆครับ
7. เข้าสังคม และมีน้ำใจ
หลายๆครั้งที่เราไปถ่ายรูป เราอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นคนเดียว อาจจะมีเพื่อนช่างภาพอีกมากที่ยืนอยู่ข้างๆกัน การเอ่ยปากกล่าวเริ่มต้นทักทายด้วยรอยยิ้มมันง่ายมากๆที่จะผูกมิตรกับเพื่อนตากล้องคนอื่นๆ (แต่ถ้าเจอตากล้องแย่ๆก็ไม่ต้องไปยุ่งกะมันนะครับ 5555) ผมได้รู้จักตากล้องดังหลายคนแบบไม่คาดคิด และเค้าก็ช่วยแนะนำสถานที่รอบๆ บอกเส้นทางไป รวมถึงเวลาที่ต้องไปถ่ายด้วยครับ ใจดีมากๆ
เรื่องน้ำใจผมยกให้เป็นเรื่องสำคัญกว่าการเข้าสังคมอีกครับ บางทีจุดที่เราถ่ายมันยืนได้สองสามคน แต่ถ้าเราเบียดๆกัน เกยขาตั้งกันนิดหน่อย ก็อาจจะได้สามสี่คน หรือถ้าเราได้จังหวะภาพที่ถูกใจแล้ว เราเปิดทางให้เค้า หรือสลับกันถ่ายก็ยังได้ แม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่รู้จักกัน แต่เดี๋ยวเราก็รู้จักกันเอง อิอิ สิ่งเล็กๆเหล่านี้ทำให้สังคมช่างภาพน่ารักขึ้นอีกเยอะเลยครับ ผมเชื่อว่าเราไม่มีทาง “ได้” ถ้าเราไม่ได้เริ่มต้นเป็น “ผู้ให้” เสียก่อนครับ
8. คุ้นเคยกับแผนที่อากาศ
สภาพอากาศนั้นเป็นปัจจัยหลักในการถ่ายภาพ landscape อย่างมากๆ เพราะมันคือสิ่งที่ธรรมชาติถือหุ้นไปซะ 90% อีก 10% นั้นอยู่ที่ฝีมือเราว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา เก็บภาพนั้นออกมาได้สวยหรือเปล่า ฉะนั้นการอ่านข้อมูลสภาพอากาศได้อย่างละเอียดจะทำให้เราเป็นต่อมากๆ ทำให้วางแผนง่ายขึ้น สมมติมีตัวเลือกถ่ายแสงเย็นอยู่ 3 ที่ ถ้าเรามีข้อมูลเมฆ ก็จะช่วยตัดสินใจได้ว่าจุดไหนเป็นจุดที่ดีที่สุด
นอกจากกจะดูว่าโอกาสฝนตกกี่ % สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือระดับความสูงของเมฆครับ ปกติแล้วระดับความสูงของเมฆจะแบ่งได้คร่าวๆเป็น 3 ระดับคือ low, mid และ high clouds ซึ่งข้อมูลพวกนี้สามารถดูได้จากเวบไซท์ของหน่วยงานทางอุตุนิยมวิทยาในแต่ละพื้นที่ (ของที่ไทยอาจจะไม่ละเอียดนัก) หรือไม่ก็ดู visible satellite (สำหรับเวลากลางวัน) และ IR satellite (ดูทั้งกลางวัน และกลางคืนได้ด้วย) ตัว visible จะทำให้รู้ว่าเมฆมีลักษณะอย่างไร ส่วน IR จะช่วยบอกว่าเมฆนั้นหนาแค่ไหน
ถ้าวันไหนมี high cloud เยอะๆ และขอบฟ้าเปิด (ประมาณ 20-50 km ไปทางตะวันตกหรือตะวันออกจากจุดที่เราอยู่) โอกาสที่ฟ้าสวยๆจะมีสูงครับ สำหรับ app ที่ผมใช้บ่อยมากคือ windguru เพราะมันบอก low, mid, high cloud ได้หมดเลย ดูได้จากบทความแนะนำแอพที่ใช้บ่อยครับ
ถ้า low cloud 100% พับแผนกลับบ้านได้เลย ฮาาาา
9. มองหาฉากหน้า ละจากระดับสายตา
สิ่งที่ทำให้ภาพแลนด์สเคปโดดเด่นออกมามากๆนั่นคือฉากหน้าครับ ถ้าฉากหน้าที่ดี และส่งสายตาไปยังฉากหลัง จะทำให้ภาพนั้นดูมีพลัง และดึงสายตาผู้ชมได้นานมากๆ ทุกครั้งที่ผมถ่ายภาพ ผมจะหาฉากหน้าเสมอ ไม่ว่าจะถ่ายภาพแนวนอนหรือภาพแนวตั้งก็ตาม และหลายๆครั้งฉากหน้าที่พุ่งมากๆ มีพลังมากๆ มักจะมาจากการถ่ายมุมที่ต่ำมากๆ เข้าไปใกล้ subject มากๆ แทบจะเรียกว่ากางขาตั้งกล้องติดพื้นเลย และที่สำคัญ อย่าลืมทำ focus stack เพื่อให้ได้โฟกัสชัดทั้งภาพด้วยนะครับ (วิธีการทำ focus stack สามารถติดตามได้จาก link นี้)
10. เซฟภาพตัวอย่างเก็บไว้ในมือถือ
ข้อนี้ผมได้มาจากโอ๊ค ช่างภาพจากซิดนีย์ ตอนไปไอซ์แลนด์ โอ๊คเซฟรูปตัวอย่างจาก 500px เก็บไว้ในมือถือเยอะมากๆ เอาไว้ดูเป็น reference ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นประโยชน์มากๆ เวลาไปถึงสถานที่จริงเราอาจจะนึกภาพที่เราเคยทำการบ้านมาแล้วไม่ออก และบางทีที่ตรงนั้นก็ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เนตให้เราค้นหารูปด้วย มือถือนี่แหละครับ ของใกล้ตัวที่สะดวกที่สุด สามารถดูรูป และเทียบกับวิวตรงหน้าได้ทันที เช่น บางทีผมไปภูเขาแล้วผมหามุมที่ต้องการถ่ายไม่เจอ ผมก็จะเทียบเหลี่ยมเขาที่เห็นตรงหน้ากับที่เห็นในมือถือ เพื่อดูว่าเราน่าจะอยู่ตรงจุดนั้นหรือยัง หรือต้องเดินเข้าไปอีกหรือไม่ ซึ่งก็ช่วยได้มากๆครับ ผมใช้วิธีนี้จนติดเป็นนิสัยเลย
สุดท้ายนี้ ขอบคุณ ดร. ต้น นายแบบสุดหล่อเป้ส้มสีสวยในภาพหัวบทความนะคร้าบบบบ ฉากหลังคือ Mount Assiniboine หนึ่งในเส้นทาง backpacking ที่สวยมากๆในแคนาดา