ผมเคยได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Luminosity Mask มาสองตอนแล้ว ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน สามารถอ่านบทความก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจบทความในตอนนี้ได้ดีขึ้นครับ
Luminosity Mask Basics ตอนที่ 1
Luminosity Mask Basics ตอนที่ 2
ในตอนแรกเป็นตอนเกี่ยวกับการสร้าง Luminosity Mask แบบง่ายๆ เช่น mask ส่วนสว่าง (light mark) และ mask ส่วนมืด (dark mask) และในตอนที่สองก็เป็นการต่อยอดการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้แสดงให้ดูว่า luminosity mask ไม่ได้มีแค่แบบสองแบบ แต่สามารถทำไล่ระดับได้ เช่น จาก mask ของส่วนสว่าง ก็ทำต่อได้เป็น mask สำหรับส่วนสว่างของส่วนสว่าง เป็นแบบนี้เรื่อยๆไป และผมได้ยกตัวอย่างออกมาเป็น mask ส่วนสว่าง 5 ระดับ และส่วนมืด 5 ระดับ โดยใช้ปุ่ม ctrl + alt + shift เพื่อกดสร้าง mask ในระดับที่สูงขึ้น
และในตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า infinity mask มันก็คือ luminosity mask นี่แหละครับ แต่เราจะไม่จำกัดอยู่แค่ 5 ขั้น เราสามารถสร้าง mask ระดับไหนก็ได้ตามใจเราเลย สมมติว่าอยากได้ mask ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง light 1 (สว่างธรรมดา) กับ light 2 (สว่างมาก) ถ้าเป็นการใช้ปุ่ม ctrl + alt + shift เราจะไม่มีวิธีสร้าง mask ตรงกลางๆนี้ได้เลย แต่ด้วย infinity mask เราสามารถคุมสิ่งที่เราเลือกได้อย่างอิสระ จะเอาค่าความสว่างเท่าไหร่ก็เลือกได้ จำนวน mask ที่เป็นไปได้ก็เลยมีนับไม่ถ้วน เหมือนกับว่าเราอยากได้ตรงไหนก็เลื่อนเอา ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงใช้ infinity mask เพราะมันมีวิธีสร้าง mask ได้นับไม่ถ้วน หรือ infinity แบบนั้นเอง
infinity mask จึงไม่ใช่ mask ระดับสูงสุดๆเหมือนเป็นขั้น infinity แต่ชื่อของ infinity นั้นมาจากรูปแบบของ mask ที่สร้างได้ มันมีนับไม่ถ้วน ไม่ได้ขึ้นกับแค่ 5 ระดับเท่านั้น
วิธีการสร้างและใช้งาน Infinity Mask
Infinity mask จริงๆแล้วมันก็คือการใช้เครื่องมือ Level มาปรับ Luminosity mask ที่เราทำเก็บไว้ ในตอนก่อนหน้าผมเคยเกริ่นว่า Luminosity mask นั้นสามารถปรับแต่งได้ เราสามารถใช้ brush ทาสีขาว สีดำลงไปได้ เสมือนหนึ่งมันคือ mask ชิ้นหนึ่ง
สมมติว่าผมตั้งต้นด้วยภาพเจดีย์พุกามภาพนี้
ขั้นแรก ผมสร้าง light mask ธรรมดาๆ โดยการกด Ctrl (command ใน mac) แล้วคลิกที่ RGB ในหน้าต่าง Channel
สังเกตว่าในหน้าต่าง channel ผมได้ตั้งชื่อ luminosity mask ตัวนี้ว่า light 1
พอเราเปิดคำสั่ง level ขึ้นมาด้วยคีย์ลัด Ctrl + L ที่เราคุ้นเคยกันดี เราก็จะเห็นเจ้า slider สามอัน ที่คุม shadow midtone และ highlight ที่เป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ใต้ histogram สามอัน
เจ้าสามเหลี่ยมสามตัวนี้แหละครับ คือลูกเล่นของ Luminosity mask นี่เอง ลองเล่นดูนะครับ มันก็เหมือนกับการปรับ level ธรรมดาๆ
เช่น ถ้าผมดัน midtone slider ตัวกลาง ดันไปทางขวาเล็กน้อย โดยที่ตัว slider อันซ้ายและขวายังอยู่ที่เดิม ภาพก็จะมืดลง (ในที่นี้คือ mask เรามืดลง)
ในความหมายของ luminosity mask การที่เราดัน midtone slider ไปทางขวา นั่นคือ mask เราแคบลง เพราะภาพมืดลง จะต่างจากการดัน slider อันซ้ายสุด (shadow) ถ้าดันอันนั้น shadow จะหลุดหายไปครับ และตรงจุดนี้ ก็คือการทำ mask ขั้นที่สูงขึ้นกว่า light 1 นั่นเอง
concept มันง่ายมากครับ
- ถ้าดัน midtone slider จาก 1 ไป 0.5 เราจะได้ light 2
- ถ้าดันไป 0.25 ก็จะได้ light 3
- ดันไป 0.125 จะได้ light 4
- และครึ่งนึงของ 0.125 หรือ 0.0625 ก็จะได้ light 5
เห็นไหมครับว่า light 1 ถึง light 5 นั้นทำได้ไม่ยากเลย concept ทั้งหมดก็เป็นแค่ตัวเลขของ midtone slider เท่านั้น จริงๆแล้วเราใส่ทศนิยมได้แค่ 2 ตำแหน่ง ถ้าอยากได้ light 1 จริงๆ แทนที่จะใส่ค่าไป 0.125 ทีเดียวเลย ให้ใส่ค่า 0.25 เพื่อสร้าง light 3 และกด OK ไป จากนั้นค่อยทำ level อีกครั้งด้วยค่า mid slider 0.5 เราก็จะได้ค่าสุดท้ายเหมือนกับการปรับที่ 0.125 นั่นเอง
ดังนั้นถ้าผมอยากได้อะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่าง light 1 กับ light 2 ผมก็แค่เลือกค่ากลางๆ เช่น 0.75 เป็นต้น ผมก็จะได้ light ค่าประมาณ 1.5 แล้วครับ และจริงๆเราจะเลือกค่าอะไรก็ได้ตามใจชอบเลย ดันไปมาก selection เราก็แคบมาก เลือกส่วนสว่างที่มีค่าความสว่างมากขึ้น บริเวณที่เลือกจะน้อยลง
Infinity mask ยังไม่จบแค่นี้ครับ เราสามารถปรับความแคบ และความแรงของ mask ได้อีก โดยใช้ slider ทางซ้ายสุด (ของ shadow) และ slider ทางขวาสุด (ของ highlight)
จากภาพก่อนหน้า ที่ผมปรับ mid slider ไป 0.81 สังเกตว่าบริเวณส่วนมืดยังถูกเลือกอยู่ ยังไม่ดำสนิท ดังนั้นถ้าผมเลื่อน shadow slider มาทางขวา ก็จะเป็นการตัด histogram ส่วนมืดออก ทำให้มันมืดสนิทมากขึ้น ถ้าเป็นการปรับแบบนี้บนภาพเรา ก็จะทำให้ shadow หลุดหายไป แต่สำหรับการปรับบน luminosity mask นั่นคือเราจะทำให้บริเวณที่มืดสนิทเหล่านี้ไม่ถูกเลือกเลย หรือทำให้ selection เหลือ 0% นั่นเอง
ผมดันมาสัก 42 นะครับ ยังคงค่าของ mid slider ไว้ใกล้ๆที่เดิม
ในทางกลับกัน ถ้าผมดัน white slider หรืออันขวาสุด และถ้าดันมาจนล้ำเข้ามาใน histogram ก็จะเป็นการทำให้หลุดไฮไลท์ เมื่อเรามองในมุมมองของการปรับ layer mask สีขาวมันขาวสนิทเท่าไหร่ นั่นแปลว่าบริเวณนั้นจะถูกเลือกใกล้เคียง 100%
และถ้าเราปรับทั้ง 3 slider เลย โดยใช้ค่าเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์แบบนี้
สังเกตว่า mask ที่ได้จะมีส่วนที่เลือกอยู่แค่บริเวณท้องฟ้าเท่านั้น และถ้าผมปรับให้หนักกว่านี้ ก็จะได้ผลลัพธ์จนน่าพอใจ คือไม่เลือกด้านล่างเลย และเลือกแต่ท้องฟ้า (ไม่เลือกเจดีย์ด้วย) แบบนี้ครับ
เมื่อผมปรับ S curve แบบนิดๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่การปรับนั้นมีผลแค่ท้องฟ้าเท่านั้น เพราะ mask เราถูกสร้างมาจาก infinity mask หรือจริงๆแล้วเนื้อแท้มันคือ luminosity mask + level นั่นเอง และการปรับแต่งนั้นก็มีไม่จำกัดวิธี อยู่ที่ว่าเราจะดึง level ไปสักเท่าไหร่ครับ
ลองเอาไปเล่นดูนะครับ วิธีนี้ต่อยอดได้มากมายเลย
You must be logged in to post a comment.