San Francisco เป็นเมืองที่มีสเน่ห์ ถ้านับเมืองในอเมริกาแล้วผมชอบซานฟรานมากที่สุด ผมชอบตรงที่มันมีอะไรหลายๆอย่างรวมอยู่ในที่ๆเดียว มี museum มากมาย ตึกสวยๆตั้งบนเนินขา มันเป็นเอกลักษณ์มาก มี cable car สุดคลาสสิค และเพราะว่าเมืองเป็นเนินเขาเยอะ ก็เลยมีมุมถ่าย cityscape เยอะมากๆ รวมไปถึงสะพาน Golden Gate และ Bay Bridge อันโด่งดังด้วย ถ้านับมุมถ่ายรูป ผมคงลิสต์ออกมาได้เกิน 20 ที่แน่นอน อาหารที่นี่ก็อร่อย ขนมอร่อย ไอศกรีมอร่อย อร่อยไปหมดเลย 55
แต่ต้องระวังโจรทุบรถและขโมยของนิดนึงครับ ฮาาาา บางพื้นที่อย่าง chinatown หรือ city hall ก็ไม่ค่อยปลอดภัย
ผมไปซานฟรานมานับครั้งไม่ถ้วน ผมชอบเดินชมเมือง ชอบนั่ง cable car และเดินเล่นแถว marin ซึ่งจะเห็น golden gate และตัวเมืองจากภูเขาทางเหนือ แต่ activity ที่ผมรู้สึกชอบที่สุด และคิดว่ามันคุ้มค่ามากๆ ก็คือการได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ชมวิวเมืองจากมุมสูงครับ ผมได้เห็นรูปมุมสูงครั้งแรกก็ของ Michael Shainblum และ Toby Harriman แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เจ๋งอะ ต้องลองบ้าง ก็เลยเก็บเงินมาตั้งแต่ตอนนั้น
บนวนเหนือสะพาน Bay Bridge
หลายๆคนอาจจะคิดว่าเฮลิคอปเตอร์นั้นคงราคาแพงมาก แต่ราคาจริงๆนั้นไม่ได้แพงอย่างที่คิดครับ ผมใช้บริการของ Vertical CFI helicopter ตกชั่วโมงละ $600 บินได้สามคน ก็ตกคนละ $200 เท่านั้นเอง เราตั้งต้นบินจากสนามบินเล็กๆในเมือง Hayward ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมือง Oakland ฉะนั้นถ้าจะบินมาที่ซานฟรานจะใช้เวลา 15 นาทีครับ ถ้าจองไว้ 1 ชั่วโมง พอหักลบเวลาบินทั้งไปและกลับ ก็จะมีเวลาถ่ายรูปเหนือตัวเมือง 30 นาที ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำว่าบินหนึ่งชั่วโมงครึ่งจะคุ้มกว่า เพราะถ้าตั้งต้นก่อนพระอาทิตย์ตกสัก 45 นาที ก็จะมีเวลา 30 นาทีก่อนพระอาทิตย์ตกให้ถ่ายภาพแสงสุดท้าย และสามารถถ่าย twilight หลังพระอาทิตย์ตกได้อีก 30 นาทีครับ ถ้าเป็นแสงเช้าก็สามารถถ่ายได้ โดยใช้หลักการเดียวกัน
เรื่องอากาศก็ต้องไปลุ้นกันอีกที ถ้าอากาศไม่เป็นใจ สามารถติดต่อยกเลิกได้ แจ้งล่วงหนัาสักวันสองวันกำลังโอเคครับ นักบินที่นี่คุยง่ายครับ นักบินมีสองคนคือเจ้าของบริษัท และก็มีนักบินประจำอีกคนนึง ซึ่งจริงๆถ้าอากาศมันแย่มากๆ ทางนี้เค้าก็จะตัดสินใจไม่บินเองครับ ซึ่งการจอง เราสามารถจองเวลาไหนก็ได้ จะเช้ามากๆ หรือตอนเย็นก็ได้ทั้งนั้นครับ แต่ต้องจองล่วงหน้านานหน่อย ของผมจองล่วงหน้าไว้ 2 เดือน ช่วงหลังๆคนฮิตกันมาก คงต้องวางแผนล่วงหน้ากันนานหน่อยครับ
ตึก Transamerica
ที่ Vertical CFI นั้นมี ฮ. ให้บริการอยู่สองขนาดครับ แบบแรกคือ R22 นั่งได้สองคน ก็คือเราและนักบิน ราคาชั่วโมงละ $325 ซึ่งถ้ามาคนเดียวก็จะแพงกว่า แบบที่สองคือแบบที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น คือ R44 นั่งได้สามคน ชั่วโมงละ $600 ครับ ฉะนั้นพอหารสามก็ตกคนละ $200 ฮ. ทั้งสองลำนั้นไม่มีประตูกั้นเลย เรียกได้ว่าเพื่อช่างภาพโดยเฉพาะ และมีเข็มขัดเพื่อความปลอดภัยครับ เราสามารถยื่นกล้องออกไปด้านนอกได้อย่างอิสระเลย ตอนที่บินเข้าเมือง ฮ. จะบินเร็วเต็มสปีด ลมจะแรงพอสมควร พี่ที่นั่งด้านหลังบอกว่าเมาเครื่องนิดหน่อยเพราะลมตีครับ แต่ตอนบินอยู่เหนือเมืองไม่ได้บินเร็วมาก (เพราะถ่ายรูปอยู่) จึงไม่มีปัญหามากนักครับ แต่ถ้าใครกลัวความสูงก็คิดให้ดีๆนะครับ เพราะมันไม่มีอะไรกั้นเลยจริงๆ แต่ถ้าคุณไม่กลัวความสูง นี่คือประสบการณ์ที่สุดยอดอย่างนึงของชีวิตเลยล่ะครับ
On the air
สำหรับการบินนี้ นักบินจะคิดเวลาบินตามจริงเป็นนาทีครับ นับตั้งแต่ take off จน landing บินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น แต่ควรจะแจ้งล่วงหน้าว่าจะบินประมาณกี่ชั่วโมงครับ เพราะนักบินจะได้กะปริมาณน้ำมันได้ถูกครับ ถ้าเปลี่ยนใจก่อนบิน ขอขยายเวลาบิน อาจจะขอต่อได้ไม่นานนักเพราะน้ำมันจะเติมไว้พอดี บวกเผื่อนิดหน่อย
เท่าที่ผมบินมา แบบ R44 นั่งสามคน แถวหน้าจะนั่งหนึ่งคน และนักบิน ส่วนแถวหลังนั่งสองคน ที่วางของพอมีบ้างแต่ไม่กว้างขวางมาก แถวหน้าสามารถวางตรงหน้าขาได้ และแถวหลังสามารถวางตรงกลางระหว่างสองคนได้ ความยากลำบากของการถ่ายรูปอยู่ที่เวลาหัน ฮ. มาด้านหนึ่งเพื่อถ่ายรูป คนที่นั่งอีกด้าน (แถวหลัง) จะไม่ได้ถ่ายมุมนั้น ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องสลับกัน ให้ ฮ. กลับตัว เพื่อให้อีกคนถ่ายด้วย ฉะนั้นเวลาถ่ายรูปจริงๆ ก็จะถูกหารสองลงไปอีก เหมือนเราจ่าย $200 แต่ได้เวลาครึ่งเดียว (คิดง่ายๆคือมูลค่าที่ต้องจ่ายจริงเพื่อให้ได้รูปเหมือนถ่ายเต็มชั่วโมงก็คือ $400) ดังนั้นผมเลยสรุปให้ว่า ถ้าให้คุ้มที่สุดคือมา 2 คน และนั่ง ฮ. แบบ R44 และให้นั่งฝั่งเดียวกัน คนละด้านกับนักบิน จะได้เวลาถ่ายรูปเยอะที่สุดครับ หารออกมาตกคนละ $300 ซึ่งก็จะถูกกว่าแบบ R22 นั่งคนเดียวอยู่เล็กน้อยครับ
Coit Tower
เมื่อเราลงทุนกับค่า ฮ. ไปเยอะ ฉะนั้นเราต้องวางแผนให้ดีที่สุด เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดครับ นักบินจะมีหน้าที่เดียวคือควบคุมเฮลิคอปเตอร์ ไม่สามารถมาแนะนำเราได้ว่า ควรถ่ายมุมไหน หันกล้องอย่างไร เพราะนักบินต้องโฟกัสไปที่การบินอย่างเดียวเท่านั้น มีปัจจัยที่ไม่คาดคิดหลายอย่างที่ต้องเผื่อใจไว้ครับ หลักๆเลยก็เรื่อง air traffic ซึ่งบางครั้งเฮลิคอปเตอร์ลำเล็กๆก็ต้องหลบให้เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจที่ดูแลการจราจรในช่วงเย็น เรื่องลมก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก มีหลายครั้งที่นักบินพยายามทรงตัว ฮ. ให้อยู่กับที่เหนือสะพาน golden gate และก็เอียง ฮ. 45 องศาเพื่อให้ผมได้ถ่ายรูปสะพานที่เป็นมุมกดมากๆ เรียกว่าเล่นท่ายาก 555 (นักบินบอกผมว่าเขาสามารถเอียงได้มากสุดเกือบๆ 90 องศาเลย แต่แค่แว๊บเดียว ผมขอไม่เอาเพราะกลัวตก 55) สุดท้ายลมก็พัดแรงเหลือเกิน จนบางทีนักบินต้องขอถอยตัวไปตั้งหลักให้ได้ระยะห่างที่ปลอดภัยครับ ขอบอกว่าจังหวะนั้นมันเสียวมากๆเลย นอกจากเสียวร่วงแล้วก็เสียว ฮ. ตกด้วย ฮาาาาา ดังนั้น การใช้ speed shutter จึงต้องเพียงพอที่จะเผื่อจังหวะ ฮ. ไม่อยู่นิ่งด้วย ผมยอมรับเลยครับว่านักบินของบริษัทนี้เก่งจริงๆ
เหนือสะพาน Golden Gate Bridge
ที่เกริ่นว่าต้องวางแผนให้ดี นั่นหมายถึงว่า เราต้องมีแผนที่ในหัว วางแผนว่าจุดไหนอยู่ตรงไหนบ้างทิศทางแสงตอนนั้นเป็นอย่างไร ควรจะไปจุดไหนก่อนหลัง และมีภาพในหัวว่าสถานที่แต่ละที่น่าจะอยู่มุมไหนถึงถ่ายทอดออกมาได้ดีและน่าสนใจ รวมไปถึงต้องคิดด้วยว่าควรจะบินที่ความสูงสักเท่าไหร่ด้วย ถึงจะแจ้งนักบินได้ครับ เพราะบางทีนักบินก็ไม่เข้าใจว่าช่างภาพอยากได้อย่างไร ดังนั้นช่างภาพจึงต้องเป็นผู้กำกับการบินด้วยนั่นเอง ฉะนั้นถ้าไม่มีการวางแผนมาก่อนก็จะทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆครับ ตัวเมืองซานฟรานนั้นไม่ใหญ่มาก ฮ. สามารถบินรอบเมืองได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที ฉะนั้นในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง เราสามารถถ่ายที่ downtown และบินไป golden gate และย้อนกลับมาถ่าย downtown อีกได้สองสามรอบเลยครับ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราวางแผนที่จะถ่ายอะไรบ้างนั่นเอง
ตัวอย่างทริปผม ผมวางแผนบินค่อนข้างวกไปวนมาซักหน่อย ผมเริ่มจาก Bay Bridge ก่อน แล้วตีวงถ่ายรอบ downtown จากนั้นก็ตีเลาะชายฝั่งไป Golden Gate ผ่านทาง Pier ต่างๆ (บอกให้นักบินรักษาระยะห่าง จะได้เก็บ Pier เข้ามาในเฟรมได้) และก่อนพระอาทิตย์ตกไม่นานผมเห็นทีท่าว่าฟ้าจะสวย เลยขอตีกลับมาถ่าย Bay bridge อีกครั้ง (รูปบนสุด) และวนถ่ายอีกด้าน (ภาพด้านล่าง) จากนั้นค่อยไป Golden Gate อีกครั้งเพื่อถ่ายแสงสุดท้าย แต่ไปไม่ทันแสงกระทบสะพาน สุดท้ายหลังพระอาทิตย์ตก ผมก็เริ่มกวาดมาเก็บ twilight ตามสถานที่ต่างๆ เช่น Palace of Fine Art, Coit Tower, City Hallตามมุมที่เล็งไว้ และที่สำคัญที่สุดคือตึก Transacmerica ผมเล็งว่าอยากถ่ายมุมกดของตึกนี้ แต่ลมแรง กัปตันบอกว่าไม่ไหว เลยต้องแห้วไป
เหนือ Union Square and Downtown San Francisco
ผมว่าจะปิดท้ายด้วย Embarcadero ที่จะได้มุมของ Ferry Building และเห็น Market Street เป็นทางยาว แต่แสงดันหมดเสียก่อน ผมยังไม่ได้มีโอกาสไปถ่ายแถวๆ Golden Gate Park และทางตะวันตกของเมืองอย่าง Ocean Beach เท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าผมเก็บ Icon ที่ผมอยากเก็บได้เกือบครบแล้วครับ
City Hall
ดังนั้นการที่เรารู้เส้นทาง รู้สถานที่ต่างๆของเมือง มีแผนที่อยู่ในหัว มันสำคัญมากๆเลยจริงๆครับ เพราะถ้าเรามานั่งบอกว่าไปทางซ้าย ทางขวา มันยากกว่าบอกนักบินง่ายๆว่า ขอไปตึกโน้นตึกนี้นะ เพราะนักบินเองก็รู้จักสถานที่หลักๆครบครับ
สุดท้ายนี้ กล่าวถึงอุปกรณ์ที่ใช้กันสักหน่อย ผมใช้กล้อง full frame ส่วนเลนส์ ผมแนะนำว่าควรเป็นเลนส์ wide เป็นหลัก ผมใช้ 16-35 f/4 ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตก พอหลังพระอาทิตย์ตกก็หันมาใช้ 14mm f/2.8 ครับ ถ้าใครมี 14-24 ก็คิดว่าใช้ตัวเดียวจบได้เลยครับ ขาตั้ง รีโมทนี่เลิกใช้ได้เลย สำคัญมากๆคือเราต้องมีแบตและการ์ดก็ควรมีเผื่อให้มากพอ วางอยู่ในที่พร้อมจะหยิบได้เสมอ และมั่นใจว่าจะไม่หล่นตกจาก ฮ. นอกจากนี้ผมก็เอา gopro มาเผื่อด้วยสองตัว ตัวนึงเอาไว้ถ่าย selfie สนุกๆ อีกตัวผมติดไว้บนกล้อง ที่ hotshoe ของแฟลช และถ่ายวีดีโอไว้ตลอดเวลาครับ สนุกทีเดียว แต่ยังไม่มีเวลาว่างตัดต่อวีดีโอเลย 555
ถ้าใครมีโอกาสไปซานฟราน และอยากลองอะไรใหม่ๆ ผมแนะนำเฮลิคอปเตอร์เลยครับ ซานฟรานเป็นเมืองที่ผังเมืองสวย สถานที่ต่างๆมันวางไว้อย่างลงตัว ถ่ายยังไงก็สวยประทับใจครับ แล้วคุณจะไม่ผิดหวัง