ผมกลับมาจาก patagonia ก็สักพักแล้ว เกือบๆห้าเดือนได้ ถึงเวลาเขียน blog ที่ค้างไว้สักทีครับ
blog นี้จะแบ่งออกเป็นสามตอนนะครับ โดยคร่าวๆจะเป็นบันทึกการเดินทางบวกกับทริกต่างๆที่ผมได้ประสบพบเจอมาครับ ตอนแรกอยากจะกล่าวถึงการเตรียมตัว ตอนที่สองจะเป็น argentinean patagonia และปิดท้ายด้วย chilean patagonia ครับ ตอนแรกจะไม่ค่อยมีรูปเท่าไหร่นะครับ 🙂
1
เริ่มแรกเลย หลายๆคนคงสงสัยนะครับว่า patagonia นี่มันอยู่ส่วนไหนของโลก เอาง่ายๆก็คือ มันคือส่วนของเทือกเขาแอนดีส (Andes) ตอนใต้ ไล่ตั้งแต่ช่วงตรงกลางของประเทศชิลี เรื่อยไปจนสุดปลายด้านใต้ของทวีป ซึ่งมีช่องแคบแมกเจลแลนนั่นเองครับ แต่ส่วนที่ผมจะลงรายละเอียดใน blog ทั้งสามตอนนั้นคือ Southern patagonia หรือทางตอนใต้ครับ ซึ่งทางตอนใต้นี้ landscape จะโดดเด่นกว่าส่วนอื่นๆ ภูเขาแกรนิตขึ้นมาโดดๆกลางที่ราบ ดูยิ่งใหญ่อลังการ และยังมีธารน้ำแข็งและทะเลสาปสวยๆอีกมากมาย
ฉะนั้น patagonia ที่ผมไปก็คือ ส่วนใต้สุด ของทวีปอเมริกาใต้ หรือใต้สุดปลายขอบโลก ก่อนที่จะถึงทวีปแอนตาร์กติกาครับ (ฟังดูใต้มากๆๆๆ 555)
ข้อดีสำหรับคนไทยก็คือ เราไม่ต้องใช้วีซ่าเข้าสองประเทศนี้ครับ สามารถโชว์พาสปอร์ดเล่มเลือดหมูแล้วเดินตัวปลิวได้เลย สบายมากๆ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลคุณชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ติดต่อทางการฑูต ยกเลิกวีซ่าให้กับคนไทย ไม่ต้องใช้วีซ่าเข้าอเมริกาใต้มากเกือบทั้งทวีปเลยครับ จะมียกเว้นก็แต่โบลีเวีย และเวเนซุเอลา อาจจะมีประเทศย่อยๆอื่นอีกผมไม่แน่ใจครับ (เวเนซุเอลานี่อันตรายจนใครๆคงไม่อยากไปเที่ยวเท่าไหร่) เสียอย่างเดียว มันบินไกลนับ 30 ชั่วโมง เลยไม่ค่อยมีคนไทยมาใช้สิทธ์นี้ให้คุ้มค่าสักเท่าไหร่ ถ้าบินน้อยกว่าเจ็ดชั่วโมงนี่คงมีแรงงานเถื่อนเข้าไปมากมายแล้ว ฮาๆๆ เทียบกับคนอเมริกัน หรืออสเตรเลียแล้ว เขาต้องจ่ายค่า visa เสียด้วย สำหรับอาร์เจนตินานั้นต้องจ่ายมากถึง 120-160 USD เพราะเป็นนโยบายของอาร์เจนตินาเองที่ย้อนคืนอเมริกาที่เก็บค่า visa กับประเทศอื่นแพงมหาโหด เวลาคนเมกันมาเที่ยวอาร์เจนตินาก็ต้องโดนจ่ายในราคาที่เท่ากันครับ เขาเรียกเป็น reciprocity fee ซึ่งก็แก้เผ็ดได้แสบดีจริงๆ ถ้าบ้านเราเอาเยี่ยงอย่างคงสนุกดี แต่คงเป็นไปได้ยากเพราะนักท่องเที่ยวอาจจะลดลง
สถานที่หลักๆที่ผมไปจะมีสามจุดคือ El Calafate ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเดินทาง, El Chalten เป็นศูนย์กลางของการ trek ไป Mount Fitz Roy, และ Torres del Paine ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่เป็นมรดกโลกในฝั่งชิลี (ไม่นับเป็นเมืองครับ)
2
สำหรับการเดินทางไป patagonia นั้น ผมตั้งต้นที่อเมริกาครับ บินจาก Los Angeles ต่อเครื่องที่ Houston หรือ Newark ด้วยสายการบิน United เพื่อไปลงที่เมืองหลวงของอาร์เจนตินาคือ Buenos Aires ใช้เวลาบินรวมประมาณ 14 ชั่วโมง ต่อเครื่องอีก 3 ชั่วโมงครับ ก็ถือว่าไม่แย่มาก ถ้ามาจากเมืองไทย ส่วนมากจะบินสายการบินอาหรับอย่าง Emirates หรือ Qatar Airways ซึ่งจะมีไฟลท์จากกรุงเทพ เปลี่ยนเครื่องที่ดูไบหรือโดฮา และจากนั้นก็บินเข้า Buenos Aires (โดยอาจจะจอดแวะที่ Rio หรือ Sao Paulo ก่อนเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง) ระยะเวลาบินโดยรวมประมาณ 25-28 ชั่วโมงครับ บางช่วงจะมีโปรโมชั่น ราคาตั๋วราวๆสี่หมื่นบาทครับ ผมมีเพื่อนบินมาจากไทย บางครั้งหากซื้อตั๋วที่บินออกจากสิงคโปร์มายัง Buenos Aires อาจจะได้ถูกกว่าบินจากกรุงเทพมาก (ไม่มีโปรโมชั่นจากไทย) ซึ่งถ้าซื้อแบบนี้ก็แนะนำว่าต้องซื้อตั๋ว BKK-SIN แบบ low cost อีกต่อนึง อาจจะเป็นแอร์เอเชีย ซึ่งโดยรวมก็จะทำให้การเดินทางยาวกว่า 30 ชั่วโมง แต่ต้นทุนอาจจะถูกกว่าครับ
สนามบินใน Buenos Aires มีสองสนามบิน คือ Ministro Pistarini International Airport หรือ Ezeiza international airport, EZE ซึ่งเป็นสนามบินระหว่างประเทศ อยู่นอกเมือง ประมาณ 1 ชั่วโมงจากใจกลางเมืองครับ และ Aeroparque Jorge Newbery (AEP) ซึ่งเป็นสนามบินภายในประเทศ อันนี้จะอยู่ใกล้ใจกลางเมืองมากกว่า นั่งรถประมาณ 15-20 นาที ถ้าบินเข้ามาที่ Buenos Aires นั้น ไม่ว่าจะมาจากไทย หรืออเมริกา จะต้องมาที่ EZE ก่อน และเนื่องจากจุดหมายปลายทางของเรานั้นต้องไปที่ Patagonia สนามบินหลักๆคือ El Calafate (FTE) ชื่อสนามบินจริงๆคือ Comandante Armando Tola International Airport (ยาวมาก ผมไม่จำครับ ฮาาาาา) ถ้าจะบินไป FTE โดยมาก เราต้องบินจาก AEP ครับ จะมีแค่ไม่กี่ไฟลท์ที่ออกจาก EZE เท่าที่ผมดูมีวันละไฟลท์และไม่ได้มีทุกวัน ฉะนั้นหากจะเปลี่ยนสนามบินจาก EZE มา AEP ต้องเผื่อเวลาระหว่างไฟลท์ไว้อย่างน้อยสี่ชั่วโมงขึ้นไป คือเผื่อไว้สำหรับ ตม. ขาเข้า ซึ่งผมใช้เวลาไปราวๆชั่วโมงครึ่ง เผื่อสำหรับการเดินทางระหว่างสนามบินอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ต้องเผื่อใจเรื่องรถติดไว้ด้วยหากเดินทางเปลี่ยนสนามบินในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือแม้แต่ตอนเที่ยง และก็เผื่อ check in ไฟลท์ถัดไปอีกหนึ่งชั่วโมงครับ
สำหรับสายการบินในประเทศนั้น หลักๆแล้วจะมีสองอย่างคือ LAN กับ Aerolineas ครับ ผมบินมาทั้งสองสายการบินแล้ว ขาไปบิน Aerolineas ขากลับบิน LAN ขอฟันธงเลยว่า LAN ดีกว่ามากๆทั้งในเรื่องการบริการ และก็เรื่องน้ำหนักกระเป๋าที่ไม่จุกจิกมากครับ Aerolineas นั้นให้น้ำหนักกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องแค่ 15kg ซึ่งถือว่าจำกัดจำเขี่ยมากครับ และยังคิดค่าน้ำหนักกระเป๋าเกินอย่างแพงอีกต่างหาก ผมโดนไป 35 USD ต่อคนเลยครับ ส่วน LAN นั้นไม่เรื่องมากครับ ได้ 23kg และเชคเกินเขาก็ไม่ว่าอะไร เพราะเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องต่อเครื่องระหว่างประเทศอยู่แล้ว และที่สำคัญ ที่นี่เขาเข้มงวดเรื่องของที่จะนำขึ้นเป็น carry on bag มากๆครับ ผมไม่สามารถแบกวัตถุที่มีขนาดยาวๆได้เลย อย่างเช่น ขาตั้งกล้อง เตนท์ อันนี้ต้องโหลดลงใต้ท้องเครื่องอย่างเดียว ซึ่งก็กินน้ำหนักไปอีก เจอกรณีแบบนี้ ถ้าผมจะไปอีกครั้ง คงบิน LAN แน่นอนครับ อิอิ สำหรับสายการบิน LAN นั้นถ้าเกิดว่าใช้ LAN บินเข้าอเมริกาใต้ เราจะมีส่วนลดสำหรับค่าตั๋วในประเทศด้วยครับ แต่ส่วนมากเราก็คงบินระหว่างประเทศด้วยสายการบินอื่นๆอยู่แล้ว ฉะนั้นอันนี้ขอข้ามไปครับ 😀
สายการบิน Aerolineas สุดไม่ประทับใจครับ 55
ทั้งหมดที่เกริ่นมาข้างต้นนั้นคือการเดินทางจากฝั่งอาร์เจนตินา ซึ่งเป็น route ที่ผมใช้ครับ เราสามารถเดินทางไป patagonia จากชิลีได้ ซึ่งก็ต้องบินเข้าเมืองหลวงของชิลีคือ Santiago เสียก่อน (airport code: SCL) จากนั้นค่อยบินลงใต้ไปที่เมือง Punta Arenas ซึ่งจะอยู่ใต้ลงไปจาก El Calafate อีก แต่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางฝั่งชิลีที่ใกล้ภูเขาของ patagonia มากที่สุดแล้วครับ เท่าที่ผมหาข้อมูลมา จากเมือง Punta Arena ก็ต้องนั่งรถบัสมาที่ Puerto Natales ซึ่งจะเป็น gateway ไป Chilean Patagonia ที่ Torres del Paine National park ครับ
3
ว่าด้วยเงิน สกุลเงินหลักของอาร์เจนตินาคือ Argentina Peso หรือ ARS ครับ ขณะที่ผมเขียน blog อยู่นี้ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง USD เป็น ARS อยู่ที่ 5.62 ครับ เงินเปโซนั้นไม่มีให้แลกที่เมืองไทย (ที่อเมริกาก็พอมีให้แลกครับ แต่เรทห่วยมาก) แนะนำว่าถือเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาจะดีที่สุด เพราะเมื่อถึงสนามบิน สามารถใช้ USD จ่ายค่า taxi หรือค่ารถเมล์ระหว่างสนามบินได้ทันทีครับ และเราสามารถแลกเงินตามเคาน์เตอร์เพื่อมีเปโซติดตัวไว้ได้นิดหน่อย แต่ไม่ต้องแลกเยอะครับ เพราะที่ El Calafate ส่วนมากสามารถจ่ายเป็น USD ได้ เผลอๆจะเรทดีกว่าด้วย ฮาๆ ตอนเดือนมีนาที่ผมไปเที่ยว เรทใน google ประมาณ 1 USD = 4 ARS แต่ถ้าแลกในเมกาจะเหลือ 3.5 กว่าๆ แลกแถวสนามบินก็ใกล้ๆ 4 ครับ พอมาถึง El Calafate บางร้านบอกว่าจ่ายเป็น USD ได้บอกว่าให้ 4 หรือ 5 ก็มี ผมถึงกับผงะเมื่อ hostel ที่ El Chalten ให้เรท 6 ARS/USD ซึ่งถือว่าสูงมาก วันนั้นผมเอาเงิน USD ที่มีหลายร้อยไปแลกเป็นเปโซใหญ่เลยครับ ด้วยความตื่นเต้น 5555 ฉะนั้นแล้ว เรื่องแลกเงิน ไม่ต้องแลกมาดีที่สุดครับ ไปขอแลกตามร้าน หรือโรงแรม พวกนี้จะเป็นตลาดมืดครับ หากเดือดร้อนต้องใช้เงินจริงๆ ไม่มีร้านรับ USD ก็เอา debit card ไปกดจาก ATM เอา peso ออกมาโดยตรงเลย จะได้เรทปัจจุบัน นี่คงเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจของอาร์เจนตินานั้นย่ำแย่มากจริงๆ แย่ถึงขนาดที่คนในประเทศยินดีที่จะรับเงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่าเงินประเทศตัวเอง ค่าเงินเปโซก็ผันผวนมาก นับจากตอนเดือนมีนา 4 peso มาตอนนี้ก็ 5.6 แล้ว เพียงแค่ไม่ถึงครึ่งปีก็อ่อนค่ามามากถึง 40% แถมมีตลาดมืดแลกเปลี่ยนกันใต้ดิน ถ้านับว่าโรงแรมที่ El Chalten ให้ผม 6 peso นั่นแปลว่าตลาดมืดที่เขาเอาเงินไปแลกอีกทีมันต้องให้เรทที่ดีกว่านั้นอย่างแน่นอน มันน่าอนาถใจไหมล่ะครับ
สำหรับ credit card นั้น ที่นี่ หากไม่ใช่โรงแรมหรือร้านค้าใหญ่ๆ ไม่ค่อยรับ credit card ครับ แม้แต่ supermarket หลักของ El Calafate ผมยังต้องจ่ายเป็นเงินสดเปโซเลย เท่าที่จำได้มีโรงแรมและร้านอาหารบางแห่งที่พอจ่ายได้ครับ
ส่วนที่ชิลีนั้นใช้ Chilean peso (CLP) โดย 1 USD จะแลกได้ประมาณ 500 CLP โดยรวมแล้วค่าเงินของชิลีจะคงที่กว่าอาร์เจนตินามาก เวลาจ่ายทีนึงก็จะจ่ายเป็นพันๆ หมื่นๆ เพราะเงินมันซอยย่อยมากครับ และเช่นเดียวกับเงินเปโซอาร์เจนตินา ที่ไทยไม่มีให้แลกครับ ต้องมาหาเอาที่นี่ และเราก็สามารถจ่ายเป็น USD ได้เช่นกัน ร้านค่าส่วนมากรับ USD ครับ แต่เรทไม่ผันผวนวกวนใต้ดินมากเท่ากับ ARS ผมชอบแบงค์ชิลีนะครับ สีมันสวยดี 5555 ในทริปนี้ผมใช้เงินชีลีน้อยกว่ามาก เพราะส่วนใหญ่อยู่แต่ใน park นอนเตนท์ ทำกับข้าวกินเอง ไม่ต้องใช้เงินเลย
ทั้งเงินเปโซอาร์เจนตินา และเปโซชิลี หากออกมานอกประเทศแล้วจะแทบไม่มีค่าเลยครับ เรทสำหรับแลกคืนเป็นดอลล่าร์นั้นแย่มากๆ ตอนที่ผมกลับมา มีเหตุการณ์น้ำท่วมที่ Buenos Aires พอดี (ดีแล้วที่ไม่ติดพายุฝนหนักๆที่สนามบิน) คาดว่าเงินคงผันผวนจนทำให้ร้านไม่รับแลกคืนเงินเปโซอาร์เจนตินาครับ ส่วนเงินชีลีนั้นไม่รับซื้อคืนเลย (แล้วเมิงขายตรูทำไมฟระ 5555) ฉะนั้น หากคิดว่าใกล้จบทริปแล้ว ต้องแพลนดีๆ ใช้เงินเปโซทั้งหลายให้หมด หรือแลกกลับเป็น USD ก่อนออกจากประเทศครับ การที่เศรษฐกิจของประเทศๆหนึ่งตกต่ำ มันทำให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามค่าเงินมากอย่างนึกไม่ถึงเลยครับ แม้อัตราแลกเปลี่ยนสากลจะยังทรงตัว แต่ไม่มีร้านแลกเงินไหนรับซื้อคืนเลย ผมยังไม่ได้ลองไปแลกที่ธนาคารครับ จะว่าไป ลองดูก็ไม่เสียหาย 555
4
ตัวเลือกของที่พักนั้น ผมนอน hostel เป็นหลักครับ ตกคนละ 15-25 USD ต่อคืน ก็ถือว่าไม่แพงมากจนเกินไปครับ ตาม hostel ส่วนมากจะมี wifi ให้บริการอยู่แล้ว แต่อาจจะช้าถึงช้ามาก ผมเปิด roaming ใช้ 3G ยังเร็วกว่าเลยครับ ฮาๆ hostel ส่วนมากสามารถจองออนไลน์ล่วงหน้าได้ เวบที่พวกผมใช้เป็นหลักคือ booking.com ครับ ซึ่งในเวบนี้ก็จะรวมรายชื่อของ hostel ไว้อยู่แล้ว อาจจะใช้ hostelworld ก็ได้ แต่ผมคิดว่า booking.com ก็ได้ตัวเลือกเหมือนกัน และก็ได้ราคาดีไม่แพ้กันด้วย
ที่พักที่ La Guanaca hostel ใน El Chalten
นอกเหนือจาก hostel แล้ว ที่เหลือผมก็จะ hiking และนอนเตนท์ ซึ่งตามอุทยานแห่งชาติของที่นี่จัดทำ campsite ไว้อย่างดี โดยเฉพาะที่ Torres del paine ทำไว้ดีมาก สมกับเป็น world class trekking destination จริงๆครับ ผมจะกล่าวถึงการ hiking เป็นหลักในอีกสองตอนถัดไป เพราะว่ามันคือ core ของทริปนี้เลยก็ว่าได้ครับ เกริ่นคร่าวๆว่าเราเดินกันไป 60km ในห้าวัน ตกวันละ 12km ครับ
Campamento Torres ใน Torres del Paine
อันนี้เป็น Camp De Agostini ใกล้ Mount Cerro Torre
5
การเดินทางภายใน patagonia ครั้งนี้ผมใช้รถเช่าเป็นหลัก เพราะอยากได้ความคล่องตัวในการเสาะหาจุดถ่ายภาพครับ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีต้นทุนมากขึ้นอีกหน่อย เพราะค่าเช่ารถที่นี่ค่อนข้างแพง ผมไปเป็นกลุ่มใหญ่ เช่ารถ minibus ขนาดเจ็ดที่นั่งจากบริษัท Nunatuk ครับ (http://www.nunatakrentacar.com.ar/en/aboutus.html) ที่นี่หากว่ารถที่มีขนาดมากกว่าเจ็ดที่นั่งต้องใช้ driving license แบบขับรถบัส ซึ่งต้องเตรียมใบขับขี่สากลมาแบบเฉพาะ หากคนกลุ่มใหญ่กว่านี้ต้องเช่าสองคันครับ การที่ผมเช่าคันเดียวก็เพราะต้องการความคล่องตัว เปลี่ยนผลัดกันขับได้ และประหยัดน้ำมันด้วย 555 แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไหร่ครับ รถ minibus ที่ผมเช่านั้นเป็นรถใช้น้ำมันดีเซล กินน้ำมันพอสมควร เติมเต็มถังก็ขับได้ไม่ถึง 400km เอง แถมปั้มน้ำมันแถว patagonia ก็หายากมาก ถ้าออกนอกเมืองแล้วแทบไม่มีเลยครับ ต้องแพลนการขับรถให้ดีมากๆ อีกอย่างที่ผิดคาดผมก็คือรถทุกคันที่นี่เป็นระบบเกียร์กระปุกทั้งหมด ยังดีที่ในทริปพอมีคนขับเกียร์กระปุกได้บ้าง จากการที่มีคนขับถึง 7 คน ก็ขับได้แค่ 3 คนเองครับ อีก 2 คนก็ไม่ถนัดขับรถแบบขับขวา ซึ่งที่นี่จะขับเลนตรงข้ามกับเมืองไทยครับ เลยทำให้เหลือคนขับหลักอยู่แค่คนเดียวเสียอย่างนั้น ฮาๆ สำหรับถนนใน Argentina จะเป็นลาดยางเกือบทั้งหมด ในฝั่งชิลี แถวๆ Torres del paine เป็นลูกรังหมดครับ
ถ้าต้องการตัวเลือกรถเช่า เข้าเวบนี้เลยครับ มีครบ http://www.interpatagonia.com/elcalafate/car-rental.html
รถ minibus Hyundai H-1 ที่ใช้ในการเดินทาง
สำหรับการข้ามพรมแดนระหว่างอาร์เจนตินาและชิลีเพื่อไป Torres del paine ถ้าเป็นด่านที่ใกล้ที่สุด สามารถข้ามได้ที่ Cancha Carrera โดยใช้เส้นทางจาก El Calafate วกมา Esparanza ก่อน (เส้น 40 ซึ่งดูเหมือนลัดกว่านั้นเป็นทางลูกรัง ไม่แนะนำครับ) และที่ Esparanza ก็จะมีปั้มน้ำมันใหญ่ที่สุดในแถบนี้ด้วย ตรงใกล้พรมแดนจะมีเมืองเล็กๆชื่อ Tapi Aike ซึ่งมีปั้มเล็กๆอยู่ แต่เวลาเปิดปิดอาจจะไม่แน่นอน และอาจจะปิดเร็วครับ ช่วงใกล้ๆพรมแดนท่ Carrera จะเป็นทางลูกรังครับ ส่วนจุดข้ามแดนอีกจุดหนึ่งคือ Rio Turbo ซึ่งจะอ้อมกว่า แต่มีความเจริญมากกว่า 55 ถ้าข้ามแดนทีนี่ก็จะได้แวะผ่านเมือง Puerto Natales ซึ่งจะแวะซื้อของใช้ได้ครับ
เนื่องจากรถที่ผมใช้ค่อนข้างกินน้ำมัน ต้องเตรียมถังน้ำมันสำรองไว้ครับ ณ จุดนี้ต้องเติมน้ำมันกันกลางทาง ซึ่งก็ใกล้กับด่านข้ามพรมแดน แต่มัน in a middle of nowhere มากๆ
สำหรับตัวเลือกอื่นๆในการเดินทางก็จะเป็นทัวร์ และรถบัสครับ ใน El Calafate ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางในแถบนี้ มีทัวร์ให้เลือกมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นทัวร์ไปชม Glacier หรือแม้แต่ one day tour ข้ามไปชิลี ไปชม Torres del paine ก็มี หากไม่ได้ไปเป็นกลุ่มใหญ่มาก ไม่ต้องจองล่วงหน้าก็ได้ครับ สามารถติดต่อ hostel ให้จองทัวร์ให้ ค่อนข้างสะดวกมากครับ อีกทางเลือกนึงก็คือรถบัส ซึ่งสายหลักๆโดยรอบก็จะมี El Calafate – El Chalten และ El Calafate – Puerto Natales หรือข้ามไปชิลีนั่นเองครับ รอบนี้ผมไม่ได้นั่งรถบัส ก็เลยไม่มีข้อมูลให้มากนัก แต่โดยรวมแล้วค่าโดยสารไม่แพงมากครับ สำหรับรถบัสระยะไกลก็มีไป Ushuaia หรือ Bariloche ได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องนั่งรถทัวร์กันข้ามวันข้ามคืน
6
พูดถึงเรื่องที่พัก การเดินทางไปแล้ว เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกินครับ 555 ที่ El Calafate นี้มีร้านอาหารมากมาย เรียกได้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ในเมืองมี Supermarket หลักอยู่หนึ่งอัน ชื่อ La Anonima อยู่บนถนน San Martin ซึ่งเป็นถนนหลักของเมืองเลยครับ ตัดกับถนน Perito Moreno (ชื่อเดียวกับ Glacier ที่โด่งดัง) มีของขายทุกอย่าง ผักสดก็มี เครื่องกระป๋องก็มี ข้าวก็มี แต่เนื้อไม่ค่อยสดมากครับ นอกนั้น ถ้าเลือกกินข้างนอก ก็แนะนำว่ากินเนื้อแกะ ที่นี่ patagonian lamb ขึ้นชื่อมากครับ อร่อยจริงๆ ส่วนพวก steak ก็อร่อยเช่นกัน เพราะอาร์เจนตินากินเนื้อกันมาก argentinian beef ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดที่นึงของโลกเลยครับ สองอย่างนี้ มาแล้วต้องลองจริงๆ สำหรับสิงคะนองเมา เบียร์ที่อาร์เจนตินาก็ขึ้นชื่อ ส่วนชิลีไวน์จะอร่อยครับ ผมก็ฟังมาอีกที ไม่ได้ลองด้วยตัวเองครับ 55
แกะย่างครับจากร้าน Don Pichon
ภาพนี้เป็น steak buffet ที่ผมกินใกล้ๆกับสนามบิน AEP ในเมือง Buenos Aires ร้านชื่อ Siga la Vaca
และนี่ก็คือโฉมหน้าของเบียร์พื้นเมืองอาร์เจนตินาพร้อมแก้วขนาดยักษ์ครับ อิอิ
เรื่องอาหาร มีสิ่งนึงที่ต้องคำนึงครับ ในช่วงที่ข้ามพรมแดนเข้าไปชิลี ประเทศชิลีจะเรื่องมากหน่อยเกี่ยวกับการนำอาหารสดเข้าประเทศ ฉะนั้นของพวกไข่ ผัก เนื้อสดที่ยังไม่ได้แปรรูป ไม่สามารถนำเข้าไปได้ครับ ขนาดผมเอาพวก beef jerky หรือเนื้อแห้ง แม้ว่าจะแปรรูปแล้ว ก็ยังไม่ผ่านครับ หลังจากผ่านเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็เขาจะตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระทั้งหมด ซึ่งผมก็เตรียมนำอาหารรวมไว้ในกระเป๋าเดียวไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ทำให้ process ตรงนี้ผ่านไปได้เร็วครับ ฉะนั้นถ้าใครอยากจะ cook ใน camp ที่ชิลี ถ้าไม่อยากทานอาหารแห้งอย่างโจ๊ก มาม่าไปทุกมื้อ ก็ต้องขับวกลงไปเมือง Puerto Natales ซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้ที่สุดที่จะพอมี supermarket ให้ซื้อของครับ
สำหรับเรื่องการเตรียมตัว ผมมีเท่านี้ครับ ถือว่าเป็นการเกริ่น trip blog ไว้ด้วยข้อมูลหนักๆก่อนเลย เตรียมติดตามเรื่องราวการเดินทางต่อได้ในตอนที่ 2 ครับ (หวังว่าผมจะว่างมาเขียนในอีกเร็ววัน 55)