หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า Luminosity Mask ซึ่งช่างภาพต่างประเทศหลายๆคนใช้กัน แต่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร จริงๆมันก็เป็นเทคนิคนึงๆใน Adobe Photoshop ซึ่งถูกนำเอามาประยุกต์ใช้กับภาพถ่าย landscape โดย Tony Kuyper (นามสกุลไม่ได้อ่านตรงตัวตามภาษาไทยนะครับ 555) เรียกได้ว่าเป็นการประยุกต์แบบขั้นสูงมากๆ จนผมเองก็อึ้ง ทึ่ง เสียวไปเมื่อเห็นในครั้งแรก ในเวบของ Tony ก็มี tutorial ที่ละเอียดมากๆ แต่เป็นภาษาอังกฤษ ผมเองก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเอาจากเวบของเขานี่แหละครับ ใน blog ตอนนี้ผมจะมาแนะนำคร่าวๆครับว่าเจ้า Luminosity Mask มันคืออะไร และมันเอาไว้ทำอะไรครับ
ผมเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดนี้ตามความเข้าใจของผมเอง ผมเองก็ไม่ได้เป็นผู้แตกฉานใน photoshop อะไรมาก และก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง luminosity mask แต่อย่างใด แต่ผมลองผิดลองถูกหัดใช้ เห็นว่ายังไม่มีบทความเป็นภาษาไทยเท่าไหร่เลย และคิดว่ามันเป็นประโยชน์ เลยเขียนบทความนี้ขึ้นครับ ถ้าท่านใดมีอะไรเสริม หรือถ้าผมพูดผิดประการใดก็เพิ่มเติมได้เลยนะครับ บทความนี้ผมไม่ได้เจาะพื้นฐานการใช้ Photoshop นะครับ ฉะนั้นผมคาดหวังว่าทุกคนมีความรู้พื้นฐานเช่น layer, selection, masking, adjustment เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงจะตามเนื้อหาที่ผมเขียนได้ครบถ้วนครับ ส่วนเรื่องเผยแพร่ ผมยินดีที่จะให้แชร์บทความนี้ไป แต่ไม่อนุญาตให้ copy ไปแปะโพสเองครับ
Luminosity Mask คำว่า Luminosity ถ้าแปลตรงตัว ก็คือความสว่างนั่นเอง Luminosity mask มันก็คือ mask แบบเลือกจากความสว่าง ว่ากันง่ายๆ มันก็เป็นเทคนิค masking ธรรมดานี่แหละครับ มันจะเริ่มจากการทำ selection (การเลือก) ก่อน ซึ่งจะเรียกว่า Luminosity selection หรือการเลือกตามความสว่าง แล้วจากนั้นก็แค่กดสร้าง mask จาก selection ก็จะกลายเป็น luminosity mask นั่นเองครับ
สรุปคือ การจะได้ luminosity mask นั้นจะต้องทำ luminosity selection ก่อน กล่าวคือ ต้องทำการเลือกก่อน ถึงจะสร้าง mask ได้ครับ
เกริ่นกันก่อนว่า ในภาพๆนึง สมมติว่าวัดแสงมาพอดีแบบเฉลี่ยตรงกลาง ภาพนั้นก็อาจจะประกอบไปด้วยโทนหลายโทน ไล่ตั้งแต่โทนมืด หรือ shadow ไล่ไปถึงโทนสว่าง หรือ highlight และมีตรงกลาง ไม่มืด ไม่สว่าง เป็นเหมือนเทากลางๆ เรียก midtone
และ luminosity mask นี่แหละครับ ที่จะทำให้เราสามารถสร้าง selection เพื่อควบคุม shadow, midtone และ highlight ได้อย่างอิสระ
ปกติแล้วเวลาเราจะสร้าง selection นั้นจะมีได้หลายวิธี เช่น การใช้ selection tool รูปสี่เหลี่ยม วงกลมที่มีให้ หรือใช้ lasso tool, magic wand อะไรว่าไป หรือแม้แต่การจะใช้ brush นั่งระบายส่วนที่เราจะเลือก หากถ้าเราใช้ brush แบบขนแปรงขนาดเล็ก จะทำให้เราแยกแยะรายละเอียดได้เยอะมาก แต่นั่นก็ต้องแลกมากับเวลาที่ต้องเสียไป
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในภาพ landscape บ่อยครั้งเวลาเราถ่ายแสงเช้าแสงเย็น เราจะถ่ายเกือบๆย้อนแสง และนั่นก็จะทำให้ความสว่างของท้องฟ้านั้นมากกว่าพื้นดินมากๆ ในกรณีนี้ถ้าเราอยากให้ท้องฟ้ามืดลง แต่พื้นดินไม่มืดลงไปด้วย วิธีแก้มีหลายวิธี เช่น
- ถ่ายคร่อมมาหลายๆสตอป
- ใช้ filter ครึ่งซีก (graduate filters)
แต่ในกรณีนี้ผมจะยกตัวอย่างว่าผมถ่ายมาใบเดียว ซึ่งส่วน highlight ก็หลุดไปนิดเดียว ภาพตัวอย่างด้านบนนี้เป็นภาพต้นฉบับ มีท้องฟ้า และมีตึกอยู่หลายตึก และเมื่อเราอยากทำให้ท้องฟ้ามืดลง เราอาจจะใช้ graduate filter หรือจะทำใน photoshop ก็ได้ โดยการสร้าง adjustment layer ที่เป็น curve ขึ้นมา (ดูตัวอย่างด้านขวา) แล้วก็ดัน curve ลง แต่พร้อมกันนั้นก็ทำ mask เป็น gradient ให้สีดำอยู่ล่าง (ไม่มีผล) และสีขาวอยู่ด้านบน (มีผล ภาพมืดลง)
ผมทำตัวอย่างมาให้ด้านล่าง จากสามภาพนี้ ภาพซ้ายมือคือภาพต้นฉบับ ภาพกลางคือภาพที่ปรับโดยการใช้ gradient (เลียนแบบ graduate filter) แบบทางขวาคือการใช้ luminosity selection และทำให้ท้องฟ้ามืดลง จะสังเกตได้ว่า ภาพกลางที่ผมใช้ gradient นั้น ตึกจะมืดไปครึ่งนึง นั่นเป็นเพราะ gradient ที่ผมตั้งใจว่าจะให้มีผลตรงท้องฟ้า แต่มันมีผลตลอดทั้งภาพ กลับทำให้ตึกมืดลงไปด้วย วิธีแก้ก็คงเป็นการใช้ brush เพื่อลบผลของ curve adjustment นั้นออก ส่วนภาพทางขวานั้นตัวตึกแทบจะไม่มืดลงไปเลย เพราะว่าใช้ luminosity selection และเลือกเฉพาะส่วนสว่าง ในที่นี้ท้องฟ้าก็มีความสว่าง ส่วนตัวตึกนั้นอยู่ในเงา ทำให้การทำ selection นั้นไม่ยากเลย เมื่อเทียบกันระหว่างภาพกลาง และภาพขวา จะสังเกตว่าภาพที่ใช้ luminosity selection นั้นเนียนกว่ามากครับ
ต้นฉบับ (ซ้าย), ภาพที่ปรับด้วย gradient (กลาง) และภาพที่ปรับด้วยการเลือกแบบ luminosity selection (ขวา)
ขั้นตอนการทำ luminosity selection มีดังนี้ครับ
- เริ่มแรกคือการกด ctrl (สำหรับ windows) หรือ command (macintosh) ค้างไว้ แล้วคลิกที่ช่อง RGB ในเมนู channel คลิกตรง RGB เท่านั้นนะครับ ถ้าคลิกที่อื่นเช่น red green blue จะไม่ได้ luminosity selection ครับ
- และเราจะได้การ selection ขึ้นมาอันนึง อันนี้จะเป็นการเลือกส่วนสว่างหรือ highlight ในภาพครับ เส้นประที่เราเห็นก็จะครอบคลุมส่วนสว่างในภาพ (บริเวณที่ความสว่างประมาณ 50% หรือมากกว่า) และเป็น selection ของเรา เราสามารถกด save selection ได้ ในที่นี้ผมตั้งชื่อเป็น light 1
- หากเรามี light 1 selection ค้างไว้อยู่ ถ้าเกิดเรากดคำสั่ง inverse หรือ ctrl + shift + I ก็จะเป็นการเลือกส่วนตรงข้ามของ selection อันเดิมซึ่งคือ light 1 หรือ highlight ดังนั้นเราจะได้สิ่งที่ไม่ใช่ highlight ซึ่งมันก็จะเป็น shadow นั่นเองครับ ผมก็กดปุ่มเดิมเพื่อ save selection นี้ แล้วก็ตั้งชื่อให้เป็น dark 1
- ทั้งสอง selection นี้ก็คล้ายๆกับ layer mask ครับ นั่นคือเมื่อเราโหลด selection นี้ ส่วนสีขาวที่เห็นก็จะเป็นส่วนที่โดนเลือก และส่วนสีดำคือส่วนที่ไม่โดนเลือก ส่วนที่ขาวสนิทจะเป็นเลือก 100% ถ้าเป็นดำก็คือไม่เลือกเลย หรือ 0% แต่ถ้าเป็นเทากลางๆ ก็จะ 50% เทาสว่างหน่อยก็ 60-70% เป็นต้น ถ้าเราเอาเมาส์ไปคลิกตรง light 1 และ dark 1 ก็จะเห็นการแสดงผลเป็นภาพขาวดำ ส่วนขาวโดนเลือก สีดำไม่เลือกครับ ดังภาพครับ
ภาพซ้ายคือ light 1 และภาพขวาคือ dark 1 - วิธีการใช้งานก็ไม่ยากครับ เมื่อเรา save selection ไว้แล้ว ถ้าต้องการโหลด ก็แค่กด ctrl หรือ command ค้างไว้แล้วคลิกที่ luminosity selection ที่เราเซฟไว้ หากต้องการสร้าง layer mask จาก selection นี้ ก็แค่กดปุ่ม layer mask ที่อยู่ในกล่อง layer แต่ในตัวอย่างนี้ผมจะต้องการสร้าง adjustment layer ขึ้นมาหนึ่งอันที่มาจาก luminosity selection ในที่นี้ผมจะปรับ curve โดยต้องการทำให้ส่วนที่สว่างนั้นมืดลง ผมก็จะโหลด light 1 เข้ามา และกดสร้าง curve adjustment layer
- พอมาถึงจุดนี้เราจะได้ luminosity mask แล้วครับ mask นั้นอยู่บน curve adjustment layer จะสังเกตได้ว่ารูปนั้นเหมือนกับใน light 1 ใน channel เลย จากตรงนี้ผมจะดัน curve ลงไปสักหน่อยครับ เท่านี้เราก็จะเห็นว่าในส่วนของท้องฟ้าที่สว่างอยู่นั้นถูกทำให้มืดลงแล้ว (รวมถึงแสงสะท้อนที่หนองน้ำก็มืดลงด้วย) โดยจะแทบไม่มีผลในส่วนของพื้นหญ้า และภูเขาที่อยู่ในเงาเลย นั่นเป็นเพราะว่ามันเป็นสีดำในส่วนของ highlight selection นั่นเองครับ
ด้วยวิธีนี้ ผมสามารถปรับภาพ ควบคุมได้อย่างอิสระ ผมไม่ต้องมานั่งบรัชภูเขาแต่ละแง่งเพื่อทำ selection ซึ่งต้องใช้เวลามากๆๆๆ แต่ด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว ผมสามารถเลือกเอาท้องฟ้าด้านหลังที่สว่างกว่า และปรับมันให้มืดลงได้ครับ แต่ในภาพนี้หิมะบนภูเขาจะโดนทำให้มืดไปด้วย นั่นเป็นเพราะว่ามันมีค่าความสว่างอยู่บ้าง (สียังเป็นเทาอยู่) ทำให้ถูกเลือกไปใน light 1 selection ด้วยนั่นเอง ต้นหญ้าก็จะมืดบ้างนิดหน่อย เพราะยังเป็นเทาดำอยู่ ยังไม่ดำสนิท จึงยังถูกเลือกไปบ้าง
ลองเทียบกันระหว่างภาพก่อน และหลังดัน curve adjustment layer ที่มี luminosity mask อยู่ครับ มันดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษ แต่การดึงความสว่างลง โดยที่รอยต่อภูเขานั้นยังเนียนอยู่ ถ้าใช้บรัชนั้นทำได้ยากมากๆแน่นอนครับ ถ้าใช้ luminosity mask นั้นเราแทบจะไม่เห็นขอบเลย
ในทางกลับกัน ผมสามารถโหลด dark 1 selection แล้วก็ปรับ shadow ได้ด้วย จะดันให้สว่างขึ้น หรือกดให้มืดลง ก็ทำได้หมดครับ แล้วแต่เราจะนำไปประยุกต์ใช้เลย
มาถึงตรงจุดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า luminosity mask ชื่อมันดูหรู ดูเท่ก็จริง แต่มันไม่ได้มีอะไรแฟนตาซีไปกว่าเครื่องมือ selection ธรรมดาๆอันนึงอะไรเลย แค่มันพิเศษตรงที่มันเป็นการเลือกตามความสว่างในภาพ อยากได้ส่วน highlight ส่วน shadow ซึ่งมันจะเหมาะกับภาพ landscape มากๆ เพราะภาพแลนด์นั้นเราต้องการที่จะควบคุมและปรับทั้งส่วนสว่างและส่วนมืดในภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคู่กันในภาพอยู่แล้ว อยู่ที่ช่างภาพเองว่าจะมองภาพนั้นๆออกไหมว่ามีส่วน highlight และ shadow อยู่ตรงไหน และเราต้องการปรับอะไร พอใช้ luminosity selection เพื่อทำการเลือกแล้ว เราจะทำอะไรต่อ ตรงนี้คงอยู่ที่ว่าช่างภาพคนนั้นๆจะต่อยอดเอาไปใช้ทำอะไร มันมีมากกว่าแค่การปรับความสว่างโดยใช้ curve แน่นอนครับ เรามีเครื่องมือใน photoshop ที่พร้อมจะใช้งานอยู่ตั้งมากมายเลยทีเดียว
หากใครคิดว่า luminosity selection นั้นมีแค่นี้ล่ะก็ อย่าเพิ่งนอนใจครับ ความเจ๋งของมันยังไม่ได้มีแค่การเลือก highlight และ shadow เท่านั้น เราสามารถเลือก highlight ของ highlight หรือเรียกว่าเป็นขั้นกว่าของ highlight ได้อีกด้วย
เมื่อผมเรียก highlight selection ว่า light 1 ฉะนั้นเจ้า highlight ของ highlight นี้ผมจะเรียกมันว่า light 2 นะครับ วิธีการสร้างก็เริ่มจาก light 1 ที่เรา save ไว้ ให้เรากด ctrl แล้วคลิกที่ light 1 เพื่อโหลด light 1 ที่เรา save ไว้ก่อน ทีนี้เราก็กดสามปุ่ม ctrl + alt + shift และคลิกไปบน light 1 อีกที ทีนี้เราก็จะได้ light 2 selection แล้วครับ เท่านี้เราก็กด save ได้เลย ผมให้ชื่อเป็น light 2 แล้วกัน
ลองทำตามดูนะครับ สเตปนี้อาจจะงง ต้องลองดูครับ ถ้าคุ้นเคยแล้วมันจะไม่ยากเลย
ตอนที่เรากดสามปุ่มค้างไว้ ถ้าดูที่ cursor ดีๆ เราจะเห็นรูปเครื่องหมายกากบาทเล็กๆขึ้นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่เป็นเส้นประ จากปกติถ้าเรากด ctrl อย่างเดียวเราจะเห็นกรอบสี่เหลี่ยมเปล่าๆครับ (กรอบสี่เหลี่ยมเปล่าๆคือการ selection ส่วนกรอบสีเหลี่ยมมีเครื่องหมายกากบาทคือการเลือกแบบอีกหนึ่งขั้นขึ้นไป)
ด้วยวิธีการเดิม เราสามารถกด ctrl แล้วคลิกที่ light 2 เพื่อโหลด light 2 selection ขึ้นมาค้างไว้ แล้วกด ctrl + alt + shift แล้วคลิกที่ light 2 อีก ทีนี้เราก็จะได้ highlight ของ highlight ของ highlight เอาเป็นว่าผมเรียกมันว่า light 3 ครับ ถ้าทำไปเรื่อยๆเราก็จะได้ selection ของ highlight ที่สว่างมากๆของภาพได้ครับ ในที่นี้ผมจะทำออกมา 5 ระดับจนถึง light 5
ในทางกลับกัน ผมสามารถโหลด dark 1 ขึ้นมา แล้วก็กดสามปุ่ม ctrl + alt + shift ค้างไว้ แล้วคลิกที่ dark 1 เราก็จะได้ shadow ของ shadow หรือ dark 2 นั่นเอง เราก็กด save ไว้ และทำไปเรื่อยๆเหมือนกับที่ผมทำใน light 2 ถึง light 5 เท่านี้เราก็จะได้ dark 2 ถึง dark 5
ต้องอย่าลืมนะครับว่าถ้าจะทำ dark 2 – dark 5 ต้องกด ctrl + alt + shift และคลิกที่ dark เท่านั้น เพราะถ้าคลิกที่ light จะไม่ได้อะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน แทนที่เราจะได้ dark ขั้นกว่า แบบที่เราต้องการ มันจะให้ผลลัพธ์ว่างเปล่าแทน
ถ้าเอา luminosity mask ทั้งหมดมาเรียงกันก็จะได้แบบนี้ครับ
light ทั้งหมด ไล่จากสว่าง ไปถึงส่วนสว่างมากๆๆๆๆ
และ dark ทั้งหมด ไล่ตั้งแต่มืดธรรมดา ไปจนถึงโคตรของโคตรมืด (ส่วนสีขาวคือส่วนที่ถูกเลือก)
เมื่อเรามี highlight และ shadow แล้ว หากอยากได้ midtone selection ขั้นแรกให้กด select all ทั้งภาพก่อน คีย์ลัดคือ ctrl + A จะได้ selection ทั้งภาพเพียวๆครับ จากนั้นเราก็ต้องหักลบทั้งภาพนี้ด้วย light 1 และ dark 1 วิธีการหักลบ selection ก็คือกด ctrl + alt แล้วคลิกอันนั้น เช่น ต้องการหัก light 1 ออกจากทั้งภาพ ก็ให้ select all ก่อน จากนั้นกด ctrl + alt ค้างไว้ แล้วคลิกที่ light 1 ก็จะเป็นการหักลบ light 1 ออก (สังเกตว่าพอกด ctrl + alt ค้างไว้ พอเอาเมาส์ไปชี้บน light 1 จะเห็นเครื่องหมายลบอยู่ตรงกลางสี่เหลี่ยมเส้นประ) จากนั้นเราก็ใช้วิธีเดียวกัน หัก dark 1 ออก จะทำให้เราเหลือแค่ midtone และเราก็ save ไว้เป็น selection อีกอันนึงได้เลยครับ แต่รวมๆแล้วผมไม่ค่อยได้ใช้ midtone selection สักเท่าไหร่
ถ้าจะรวม selection เช่น ผมต้องการรวม light 5 กับ dark 5 ซึ่งเป็นส่วนสว่างมากๆๆๆๆ กับส่วนที่มืดมากๆๆๆๆ (แถมไม้ยมกให้สี่อันเลย 555) ก็โหลดอันใดอันนึงมาก่อน กด ctrl + shift แล้วกดอีกอัน จะเป็นการรวมกันครับ เราก็จะได้ผลรวมของสองอัน โดยที่ตรง midtone ตรงกลางจะไม่ถูกเลือกเลย
สรุปคือ
- ctrl ไว้เลือก (หรือไว้โหลด selection ขึ้นมา)
- ctrl + alt + shift ไว้ทำ selection อีกระดับนึง
- ctrl + alt ไว้ทำผลต่าง selection หรือการหักลบ
- ctrl + shift ไว้ทำผลรวมของ selection
ลูกเล่นมันมีเยอะมากครับ เราสามารถต่อยอดมันไปได้อีกมากมายเลย จับนั่งรวมนี่ ได้ selection อันใหม่
หากเราสามารถสร้าง mask ออกมาได้ทั้งหมด ก็เรียกได้ว่าโทนสว่างและโทนมืดในภาพ เราจะควบคุมได้หมด เรียกได้ว่าจะสว่างแค่ไหน จะมืดแค่ไหน ก็เอาอยู่ 5555
ปกติเวลาผมทำภาพ ก่อนที่จะแต่งรูปใดๆ ผมจะสร้าง light ของภาพนั้นๆ ขึ้นมา 5 อัน และ dark อีก 5 อัน และก็นั่งเลือกๆดูว่าผมต้องการปรับอันไหน และการเลือกแบบอันไหนเหมาะสม แต่การนั่งทำแต่ละ step มันค่อนข้างเสียเวลา เราสามารถ save action เก็บไว้ใช้เองได้ หรือจะโหลด action ที่มีในเนตก็ได้ ผมแนะนำของสามเจ้าครับ
- TK action อันนี้ของ Tony Kuyper ต้นตำรับ ผมใช้อันนี้อยู่ครับ เรียกได้ว่ามันดีมาก และครบเครื่องมากจริงๆ แต่ราคาอาจจะสูงสักหน่อย ($30)
- Jimmy McIntyre และ Greg Benz ทำแจกฟรี แต่ feature จะน้อยกว่าของ TK
หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ ลองนำไปใช้ดู มันต่อยอดได้เยอะมากจริงๆ อยู่ที่จินตนาการของคนใช้เลยทีเดียว
สำหรับตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ผมจะพูดถึงการพลิกแพลง save selection นั้นๆ การสร้าง luminosity mask แบบอื่นๆเช่น zone mask หรือแม้แต่ color mask ครับ จัดเต็มให้ทั้งสี่ตัวอย่างเลย
ติดตามอ่านตอนที่ 2 ได้ที่นี่ครับ
You must be logged in to post a comment.