ใน blog ตอนนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับการผจญภัยเล็กๆของผม กับอุณหภูมิกว่า 2000 เซลเซียสของลาวาภูเขาไฟ ทริปนี้เป็นทริปสั้นๆเพื่อไปดูลาวาลงทะเล หรือที่เรียกกันว่า ocean entry ทริปนี้ที่ผมตัดสินใจไปแบบกระทันหันมาก เรียกว่าจองตั๋วเครื่องบินต่างประเทศล่วงหน้าแค่หนึ่งเดือน จากกรุงเทพ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฮาวาย ตอนแรกผมเองก็ไม่ได้สนใจลาวามากนัก แต่พอได้เห็นด้วยตา มันเป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ และยกให้เป็นสิ่งที่เห็นแล้วประทับใจมากที่สุดในชีวิต รองลงมาจากแสงเหนือเลยครับ และลาวาลงทะเลนั้นเป็นอะไรที่เกิดไม่บ่อยด้วย ครั้งล่าสุดคือปี 2013 ลาวาไหลอยู่ประมาณแปดเดือน และเพิ่งมาลงทะเลอีกครั้งวันที่ 27 กรกฏาคม 2016 นี้เอง ลาวาที่ลงทะเลหายไปสามปีเลยทีเดียว (มีแต่ surface activity เล็กน้อยประปราย) อย่างเช่นเดือนตุลาคมปี 2014 นั้นลาวาไหลไปทางเมือง Pahoa ซึ่งก็ต้องมีการอพยพคน เป็นข่าวครึกโครมเลยทีเดียว
ถ้าว่ากันแบบง่ายๆ ลาวานั้นตั้งต้นจากแมกม่าที่อยู่ใต้เปลือกโลก ถ้าเทียบว่าโลกเราเหมือนผลส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางกว่าหมื่นกิโลเมตร เปลือกโลกเรานั้นเป็นชั้นบางๆ เฉลี่ยประมาณ 20 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อเทียบ 20 กิโลเมตร กับหมื่นกว่าๆ ชั้นเปลือกโลกนั้นบางยิ่งกว่าเปลือกส้มเสียอีก และด้านในเปลือกโลกลงไปนั้น ชั้นถัดไปก็คือแมกม่านั่นเอง เหมือนกับว่า ปริมาตรหลักๆของโลกเราก็คือแมกม่า อุณหภูมิสูงเป็นพันๆองศา จริงๆโลกเรานั้นคือเตาร้อนระอุดีๆนี่เอง พอแมกม่าหลุดออกมาจากเปลือกโลก ก็จะเรียกว่าลาวา จริงๆแล้วมันคือสิ่งๆเดียวกันครับ สถานที่ที่เราสามารถเห็นลาวาได้ หลักๆก็จะเป็นตามภูเขาไฟทั่วโลก แต่ภูเขาไฟส่วนมาก เราก็จะไม่เห็นลาวาได้จนกว่ามันจะระเบิด ล่าสุดใกล้ๆบ้านเราก็คงเป็นที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ตอนภูเขาไฟระเบิด จะมีพลังรุนแรงมาก เพราะความดันได้สะสมอยู่ใต้เปลือกโลกได้ระเบิดออกมาพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งเราคงไม่อยากอยู่ในสถานะผู้อพยพเป็นแน่ แต่จริงๆแล้วยังมีสถานที่ที่เราสามารถชมลาวาได้อย่างปลอดภัยอยู่หลายที่เลย อย่างเช่นปากปล่องภูเขาไฟที่เอธิโอเปีย ภูเขาไฟที่ประเทศชิลี และเกาะ Big Island ในฮาวาย ซึ่งใน blog ตอนนี้ผมจะพาไปรู้จักกับลาวาที่เกาะแห่งนี้กันครับ ลาวาที่ฮาวายนั้นพิเศษมาก เพราะเป็นที่เดียวในโลกที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ลาวาไหลลงทะเล
ภาพแสดงแมกมา (ใต้เปลือกโลก) และลาวา (บนพื้นผิวโลก) image credit
ฮาวายนั้นเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกได้ว่าอยู่ตรงกลางระหว่างเอเชีย และอเมริกาเลย ฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของอเมริกา ประกอบไปด้วยเกาะหลักๆอยู่ 5 เกาะคือ Kauai, Oahu (เมืองหลัก Honolulu อยู่ที่เกาะนี้), Maui, Molokai และ Hawaii หรือที่เรียกกันว่า Big Island และยังมีเกาะเล็กๆอีก 3 เกาะคือ Niihau, Lanai, และ Kaho’olawe ซึ่งเกาะ Big Island นี้เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟสองลูกคือ Mauna Kea และ Mauna Loa โดย Mauna Kea สูงกว่าเล็กน้อย ลาวาที่ผมไปตามล่านั้นเกิดจากปากปล่องภูเขาไฟ (crater) ที่ชื่อ Pu’U ‘O’O ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Mauna Loa และเป็นหนึ่งในสามปล่องที่ยัง active อยู่ (อีกสองอันคือ Kilauea และ) เนื่องจาก Pu’U ‘O’O อยู่ใกล้ทะเลมากกว่า และมีลาวา active มากในช่วงหลายสิบปีมานี้ จึงเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่อยากเห็นลาวาใกล้ๆสักครั้งในชีวิต
แผนที่เกาะต่างๆในฮาวาย ภาพจาก University of Hawaii
การเดินทาง
จากประเทศไทย เราต้องบินข้ามมหาสมุทรไปยัง Honolulu เสียก่อน โดยสายการบินที่บินจากเอเชียข้ามไปยังฮาวายนั้นมีอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น ANA, Japan Airlines, Korean Air, Asiana, China Airlines, และ China Eastern เป็นต้น โดยต่อเครื่องหนึ่งครั้ง ที่มีหลายสายการบินนั้นเพราะว่าคนเอเชียมาที่ฮาวายเยอะมากๆ โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเยอะจริงๆ สายการบินที่ตั๋วถูกที่สุดจะเป็น China Eastern อยู่ที่สองหมื่นต้นๆ รองลงมาคือ Asiana ที่ผมเลือกบินเพราะเป็นสายการบินในเครือ Star Alliance ราคาอยู่ราวๆ 28,000 บาท เป้าหมายของการเดินทางคือเกาะ Big island ซึ่งมีสองสนามบินหลักคือ Kona (รหัสสนามบิน KOA) และ Hilo (ITO) ดังนั้นเราจะต้องนั่งเครื่องบินข้ามเกาะ จากฮาวาย ข้ามมมา Big Island อีกทีหนึ่ง แม้ว่าสนามบิน Kona จะใหญ่กว่ามาก และมีไฟลท์บินตรงมาจากอเมริกาเยอะกว่า แต่ผมแนะนำให้บินมาลงที่ Hilo เพราะใกล้ lava viewing area มากกว่า
แผนที่เกาะ Big Island ภาพจาก University of Hawaii
เครื่องบินใบพัด บินระหว่างเกาะในฮาวาย ภาพนี้เป็นไฟลท์จาก Kahului ไป Hilo แต่ส่วนมากก็มีบินด้วยเครื่อง Boeing 717
จาก Hilo ผมแนะนำให้เช่ารถขับ เพราะจะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก ผมตัดสินใจใช้ Hilo เป็นฐานของการเดินทาง จองที่พักที่นี่ จาก Hilo ขับไปดูลาวาจะใช้เวลา 45 นาที จุดที่ดูลาวาจะต้องตั้งต้นจากเมืองเล็กๆของคนท้องถิ่นชื่อ Kalapana ที่นี่มีประชากรแค่สองร้อยกว่าคนเองครับ แต่ถ้าไม่อยากขับรถไปกลับ 1 ชั่วโมงครึ่งทุกครั้งที่มาดูฮาวาย สามารถหาที่พักที่เมือง Pahoa หรือรีสอร์ทริมทะเลใกล้ๆ Kalapana ได้ครับ อย่างผมเองขับรถวันละ 3 ชั่วโมง เพราะมาดูตอนเช้า 1 รอบ และตอนเย็นอีกรอบ กลางวันก็ขับไปพักร่างที่โรงแรมที่จองไว้ที่ Hilo ผมพักที่ Hilo Reeds Bay Hotel ที่โรงแรมนี้มีครัวเล็กๆให้ใช้ด้วย แต่ไม่มีแอร์นะครับ เป็นห้องพัดลมทุกห้อง สัมผัสบรรยากาศริมทะเล รับลมทะเลแบบเต็มที่ และตอนเช็คเอาท์มีพี่คนนึงเจอป้ายนี้ที่ office ของโรงแรม ถึงกับตื่นเต้นมาก
เพราะเจ้าของเป็นคนไทยนั่นเองครับ 55555 เพิ่งมารู้ตอนจบทริป
การชมลาวานั้นมีได้ 3 วิธีคือเดินเท้าไปจากเมือง Kalapana จะนั่งเรือ หรือนั่งเฮลิคอปเตอร์ก็ได้ แต่ละแบบก็มีจุดเด่นต่างๆกันไปครับ
Hiking
การเดินเท้าเป็นทางเลือกที่เหนื่อยที่สุด ลาวาในแต่ละรอบ จะเดินระยะทางไม่เหมือนกัน สำหรับลาวาลงทะเลรอบล่าสุดนี้ต้องเดินเป็นระยะทาง 4 ไมล์ หรือ 6.4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง ไปกลับก็เกือบๆ 13 กิโลเมตร ไปกลับสี่ชั่วโมง ถ้าเดินมาชมลาวาทั้งเช้าและเย็น ก็เดินวันละ 26 กิโลเมตรเลยทีเดียว ต้องฟิตร่างกายกันสักนิดนึงครับ ลาวาของปี 2013 นั้นอยู่ใกล้ Kalapana มากกว่า เดินใกล้กว่าของปีนี้ หากอยากไปดูลาวาไหลบนพื้นผิว หรือที่เรียกว่า surface flow แบบใกล้ๆ การ hiking ก็เป็นตัวเลือกเดียวครับ ใกล้ที่ว่านี่คือแค่ระยะ 2-3 เมตรเท่านั้น ใกล้กว่านี้คงไม่ได้ เพราะจะรู้สึกร้อนมากๆเหมือนจะตายอยู่ในนรกเลยทีเดียว
ใกล้ชิดขนาดนี้
หินลาวาที่เราต้องเหยียบไปตลอดทาง ลวดลายสวยมาก
เพราะว่าปีที่แล้ว ลาวาไหลไปทางชุมชน ทางรัฐบาลจึงได้สร้างถนนลูกรังขึ้นมา เรียกว่า emergency road เชื่อมระหว่างเมือง Kalapana และ Chain of Crater Road ของอุทยาน Hawaii Volcano National Park เพื่อเป็นเส้นทางอพยพสำหรองหากลาวาไหลเข้าบ้านเรือนชุมชน ทำให้ปีนี้การเดินทางสะดวกขึ้น แม้ระยะทางจะไกลกว่า แต่ก็เดินราบเรียบกว่ามาก ไม่ต้องเดินขึ้นๆลงๆบนหินลาวา ซึ่งผิวไม่เรียบเลย การเดินบนถนนนั้นสะดวกสบายกว่ากันมาก และที่พิเศษกว่าคือปีนี้สามารถเช่าจักรยานขับไปได้ ซึ่งย่นระยะเวลาจากการ hiking สองชั่วโมง เหลือแค่ 30-40 นาที ขึ้นอยู่กับว่าใครปั่นเร็วหรือช้าครับ มีช่วงขึ้นเนินลงเนินบ้าง ไม่ยากมาก แต่สำหรับผมที่ไม่ได้ปั่นจักรยานบ่อยๆ เล่นเหนื่อยเอาเรื่องทีเดียว 5555555 ราคาค่าเช่าจักรยานอยู่ที่ชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์ เช่าได้จากบูทของ Kalapana Cultural Tour ที่ตั้งอยู่ตรงที่จอดรถตรงปลายสุดถนนหมายเลข 137 เลยเมือง Kalapana มานิดหน่อย (พิกัด)
และด้วยเหตุผลเดียวกัน ปีนี้มีถนนตัดเข้าไปชมลาวา ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่ายขึ้น เส้นทางชัดเจน ไม่หลงแน่นอน เราสามารถไปชมลาวาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องจ้างไกด์ ตอนแรกผมเคยเข้าใจว่าบริเวณนี้อยู่ในสถานที่ส่วนบุคคล ต้องจ้างไกด์คนในพื้นที่เข้าไปเท่านั้น (ค่าจ้างอยู่ที่ 150-200 ดอลลาร์ต่อคนต่อการ hike หนึ่งรอบ) จริงๆแล้วเราสามารถเข้าไปได้เลย ปีก่อนๆไม่มีถนน การหาเส้นทางนั้นยากมาก เพราะรอบๆตัวจะเป็นทุ่งหินสีดำของลาวา ดูเหมือนกันไปหมดทุกทาง ซึ่งจะหลงได้ง่ายมากๆ สำหรับปีก่อนๆนั้นการมีไกด์นำทางจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับปีนี้ เดินไปตามถนนเรื่องๆ หรือปั่นจักรยานไป เดี๋ยวก็จะเห็นบริเวณที่มีควันเยอะๆ นั่นคือจุดที่ลาวาไหลลงทะเลนั่นเอง และเราจะไปได้แค่จุดที่ตรงที่ลาวาไหลข้ามถนน ทำให้ถนนถูกตัดขาด เพราะก่อนที่ลาวาจะไหลลงทะเล มันไหลข้าม emergency road ก่อน และจากตรงนี้ เดินไปแค่ 2-3 นาที ไปยืนชมลาวาที่หน้าผาริมทะเลก็จะเห็นปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นแล้วครับ การมาชมลาวาลงทะเล ผมแนะนำว่ามาช่วงพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตก เพราะแสงจะสวยกว่า โดยเฉพาะช่วงที่ฟ้ายังสว่างนิดๆ บรรยากาศรอบๆเป็นสีฟ้า หรือที่เรียกว่า Blue Hour เป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือหลังพระอาทิตย์ตก 15 นาที จะเป็นช่วงที่สวยที่สุด เพราะสีส้มของลาวามันจะตัดกับสีฟ้าของบรรยากาศรอบๆได้อย่างลงตัวมาก ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผมไปนั้นมีลาวาไหลลงทะเลตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าถ้าไปก็ได้เห็นแน่นอน แต่หลังจากนี้ไม่มีอะไรแน่นอนครับ ลาวานั้นเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลตลอดเวลา หรือมันจะหยุดไหลเอาดื้อๆเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ได้ ดังนั้นถ้าอยากเห็นปรากฏการณ์ลาวาไหลลงทะเลอันหายากนี้ เห็นได้ที่เดียวในโลกคือที่ฮาวาย ต้องรีบมาครับ เพราะถ้าลาวาเปลี่ยนทิศทางไปแล้ว ไม่รู้จะต้องรอไปอีกกี่ปี
การเดินเท้ามาชมลาวา นอกจากจะมาจากทาง Kalapana แล้ว สามารถมาจากทางฝั่งอุทยานได้อีกด้วย Kalapana อยู่ด้านตะวันตก ส่วนฝั่งอุทยานจะเป็นต้านตะวันออก สำหรับลาวารอบนี้ ระยะทางเดินจาก Kalapana และทางอุทยานนั้นพอๆกัน แต่ทางฝั่ง Kalapana จะสะดวกกว่า มีที่จอดรถกว้างขวาง มีทัวร์บริการ และมีจักรยานให้เช่า ซึ่งผมว่ามันเป็นตัวเลือกที่ดีมาก ย่นระยะเวลาไปได้มากๆ แต่ถ้าใครอยากมาชมแบบครบๆ แนะนำว่าควรมาจากทางด้านอุทยานด้วย จะได้มุมมองที่ต่างออกไป ก่อนผมไปฮาวายไม่นาน ลาวาได้แตกแขนงออกมา จากเดิมมี ocean entry แค่แห่งเดียว ก็กลายเป็นสองแห่ง อีกด้านอยู่ทางใกล้อุทยานมากกว่า และ ocean entry อันใหม่นี้มีลาวาไหลเยอะมาก จากเท่าที่เห็นบนเรือนะครับ แต่ลาวาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ผมสรุปใน blog ตอนนี้ หากมาอาทิตย์ถัดไป หรืออีกหนึ่งเดือนให้หลัง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางได้ตลอดเวลา แต่ข้อจำกัดของการชมลาวาจากทางด้านอุทยานนี้คือเรื่องลมครับ ลมของ Big Island โดยเฉพาะทะเลด้านที่ลาวาไหลลงทะเลนี้ จะพัดจากทางตะวันออกไปตะวันตก ทำให้การชมลาวาจากทางด้านอุทยานจะไม่ง่ายสักเท่าไหร่ เพราะควันค่อนข้างเยอะ ส่วนด้าน Kalapana จะควันน้อยกว่า ควันคือว่าเป็นอุปสรรคมากทีเดียว ถ้าควันเข้าจมูกเข้าตาจะแสบมากๆ เพราะควันเหล่านี้คือ hydrogen sulfide นั่นเอง
Boat
หากลาวาไหลลงทะเล วิธีที่จะชมได้อย่างใกล้ชิดที่สุดคือการนั่งเรือ และชมลาวาจากบนเรือครับ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจาก Coast guard นั้นมีแค่สี่เจ้าคือ Kalapana Cultural Tour, Lava Ocean Tour (Seelava), Hawaiian Boat Tour เท่านั้น อีกอันผมจำไม่ได้ 55 หากเห็นบริษัทชื่ออื่นๆที่มี Boat Tour ถือว่าเป็นบริษัทเถื่อนทั้งหมดครับ ต้องระวังกันนิดนึง เพราะว่าผมได้คุยกับไกด์ เค้าบอกว่าถ้าถูกจับได้ ไม่ใช่แค่เจ้าของบริษัทเรือที่ถูกปรับเท่านั้น ลูกทัวร์ก็โดนด้วย คนละ $600 เลยทีเดียว ผมคิดว่าไม่คุ้มกันครับ แต่ที่มีบริษัทเรือเถื่อนอยู่หลายเจ้า เพราะช่วงลาวาลงทะเลนี้เป็นช่วงเวลาทอง นักท่องเที่ยวมาเยอะมากจริงๆ เป็นช่วงเวลาโกยเงินครับ 5555 ผมไปนั่งเรือกับสองบริษัทมาคือ Lava Ocean Tour และ Kalapana Cultural Tour ตอนแรกผมจองของ Lava Ocean Tour ไปก่อน เป็นเรือใหญ่ นั่งได้ 40 คน เท่าที่ติดต่อมา ทัวร์นี้เป็นทัวร์เดียวที่มี sunset lava tour เรือออก 17.30 และกลับมาประมาณทุ่มนึง มีเวลาอยู่ตรงจุดที่ลาวาลงทะเลประมาณครึ่งชั่วโมง เรือนั้นไม่ได้ออกจาก Kalapana แต่ออกจาก boat dock ตรง Isaac Hale Park ที่อยู่ห่างออกไปอีก 18 กิโลเมตร เลยเป็นที่มาว่าต้องนั่งเรือนานหน่อย และด้วยเหตุที่ว่าผมก็อยากถ่ายภาพลาวาช่วงพระอาทิตย์ตก ก็เลยจองกับเจ้า Lava Ocean tour นี้ล่วงหน้าไปก่อน ราคาก็ค่อนข้างแพงเลยทีเดียว คนละ 245 ดอลลาร์ ตอนแรกในเวบเขียนว่า 170 ดอลลาร์เอง โขกสับไปมากๆ ผมก็ยอมไปเพราะตอนนั้นตัดสินใจเอาเพราะไม่เจอตัวเลือกอื่น มาตอนนี้ก็รู้สึกเสียดายเงินมาก เพราะตอนมาเช่าจักรยานกับ Kalapana Cultural Tour เค้าบอกว่าเรือเขาลำเล็กกว่า นั่งแค่ 6 คน มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ถ่ายรูปสะดวกกว่า ไม่ต้องบังกัน และยังเข้าใกล้ลาวาได้มากกว่า 2-3 เท่าอีกด้วย ผมก็เลยจัด boat tour ไปอีกรอบกับ Kalapana Tour ครับ 55555 รอบที่สองนี้ไป sunrise tour ออกตีสี่ครึ่ง และกลับมาตอนแปดโมงเช้าครับ เรือของ Kalapana Cultural Tour ลำเล็กกว่า จึงใช้เวลาเดินทางนานกว่า และผมไปตีสนิทกับเจ้าของมา ผมมา 5 คน จ่ายคนละ 200 ก็รวมเป็น $1000 เค้าเลยให้เป็น charter boat ไปเลย เป็นแบบเหมาไปครับ ได้อยู่ตรงจุดลาวาลงทะเลเกือบหนึ่งชั่วโมง และเรือทั้งลำเป็นของเราครับ สำหรับ boat tour ของ Kalapana Cultural Tour นั้นต้องมีขั้นต่ำ 4 คนถึงจะออกได้ และถ้าอยากเหมา charter boat ราคา $1200 หรือราคา 6 ที่นั่งนั่นเองครับ แต่เจ้าของเป็นกันเองมาก คุยง่าย ผมเลยประหยัดไปอีก $200
ที่ผมเกริ่นว่าการได้ชมลาวาลงทะเลจากบนเรือนั่นเป็นการได้ชมอย่างใกล้ชิดที่สุดนั้นมันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก และผมยืนยันเลยว่าถ้าลาวาลงทะเล การนั่งเรือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจริงๆ ได้เห็นลาวาใกล้มากๆ ถ้า hike มา จะได้ยืนดูจากริมหน้าผาเท่านั้น ซึ่งก็ระยะค่อนข้างไกลเกือบๆ 100 เมตร แต่นั่งเรือเล็กกับ Kalapana Cultural Tour นั่นใกล้มาก มีบางจังหวะ กัปตันขับเข้าไปใกล้แค่ 5 เมตรเท่านั้น ฟินมาก ตื่นเต้นมาก แอบเสียวนิดๆ 55 ตอนผมนั่งไปกับเรือใหญ่ของ Lava Ocean Tour นั้นต้องใช้ 400mm ของ 80-400 ถ่ายภาพเป็นหลัก (หากจะซูมจากบนฝั่งก็ต้องใช้ช่วง 200-400mm เหมือนกัน) แต่ตอนที่มากับเรือเล็ก 6 ที่นั่งของ Kalapana Cultural Tour นั้นผมใช้ 70-200 ก็เหลือเฟือครับ
ลาวามีแก๊สมีเทนสะสมอยู่ข้างใน เมื่อถึงเวลาก็จะระเบิดออกมา เหมือนฟองอากาศแตกแบบนี้เลย
น้ำตกลาวา
Helicopter
ตัวเลือกสุดท้าย น่าสนใจ แต่ราคาสุดมหาโหด บริษัทที่ให้บริการ helicopter tour แบบไม่มีประตูคือ Paradise Helicopter จริงๆมีอีกเจ้าคือ Blue Hawaiian แต่บริษัทนี้มีประตูกั้น ทำให้ถ่ายภาพยาก ราคาของ Paradise Helicopter จะมีสองแบบคือ แบบทัวร์ปกติ ไม่ได้ออกช่วงเช้ามาก หรือเย็นมาก คนละ 289 ดอลลาร์ แต่ถ้าอยากได้เวลาถ่ายภาพดีๆ ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก ต้อง charter ทั้งลำ ตกชั่วโมงละ 1300 ดอลลาร์ครับ สำหรับ helicopter นั้นนั่งได้ 4 คน ไม่รวม pilot โดยด้านหน้าจะนั่ง 3 คน คือ pilot โดยมีคนนึงนั่งติดหน้าต่าง อีกคนนั่งกลาง ซึ่งคับแคบมาก ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะจัดที่นั่งแบบนี้ทำไม เอาไหล่ไปนั่งเบียดกับคนขับ คนที่นั่งกลางจะถ่ายรูปก็ลำบากมาก มุมไม่มี แถมยังขยับแขนมากไม่ได้เพราะจะไปรบกวนการบินอีก ถ้านั่งเฮลิคอปเตอร์แบบนี้ เป็นหลักตายตัวเลยนะครับ ที่นั่งที่ดีที่สุดคือด้านหน้าขวา และด้านหลังขวา เพราะเป็นด้านตรงข้ามกับ pilot คนที่นั่งหลังซ้าย แม้จะได้นั่งริม ติดประตู แต่โอกาสถ่ายภาพจะน้อยกว่า เพราะกัปตันก็จะหมุนให้คนนั่งด้านขวาถ่ายภาพเป็นหลัก ดังนั้นถ้า charter เฮลิคอปเตอร์ทั้งลำ ก็แนะนำให้ไปแค่ 2 คนพอ จะได้ถ่ายภาพอย่างเต็มที่ แต่นั่นก็ทำให้ราคาพุ่งไปที่ 1300 หารสอง หรือคนละ 650 เลยทีเดียว
ภาพจากพี่อุ๊บ Paul Ruji Photography
จุดเด่นของการชมลาวาด้วยเฮลิคอปเตอร์ เราสามารถไปได้หลายๆจุดที่ไม่สามารถไปได้ด้วยการเดินเท้า หรือการนั่งเรือ อย่างเช่น ปากปล่องภูเขาไฟ Pu’U ‘O’O ถ้าใครจำได้ ช่วงที่ลาวาไหลลงทะเลใหม่ๆ ลาวาที่ปากปล่องมันเป็นรูปคนยิ้ม น่ารักมาก หรือนอกจากนั้นถ้าโชคดีก็จะได้เห็น surface flow เช่น ลาวาไหลเหมือนแม่น้ำ หรือการได้ถ่ายลาวาไหลแบบมุมกด ซึ่งผมว่าก็น่าสนใจมากทีเดียว ถ้า charter มา เราจะสามารถขอให้ pilot บินอย่างไรก็ได้ตามใจ จะลงต่ำ บินวน เอียงซ้ายเอียงขวา ทำได้หมด แต่ก็จะมีลิมิตความปลอดภัยที่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจจะอยู่ที่กัปตันเป็นหลักครับ และก็ขึ้นกับว่าช่วงนั้นมี surface flow เยอะหรือเปล่า เพราะการไหลของลาวานั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าให้ดี ลองมาที่ big island สัก 4-5 วัน โดยวันแรกก็ไป hiking ก่อน เชคกับทางไกด์ก่อนว่ามี surface flow เยอะหรือไม่ แล้วค่อยตัดสินใจจองเฮลิคอปเตอร์ก็ไม่เสียหายครับ
ส่วนจุดที่ลาวาไหลลงทะเลนั้น เฮลิคอปเตอร์จะไม่สามารถลงต่ำได้มาก ต้องบินสูงประมาณ 150 เมตรเหนือพื้นดิน เพราะว่าด้านล่างมี boat tour และนักท่องเที่ยวที่มาชมลาวาอยู่ โดยเฉพาะตอนเย็นซึ่งคนจะเยอะมาก ถ้ามาตอนเช้า โอกาสที่จะบินลงต่ำจะเยอะกว่า เพราะนักท่องเที่ยวน้อยกว่า และถ้าไม่มี boat tour มาช่วงนั้นก็น่าจะบินได้ใกล้มาก และได้ภาพน่าสนใจมากทีเดียว
ผมเองไม่ได้บินกับ helicopter เพราะช่วงที่ผมไป ไม่มี surface flow มากเท่าไหร่ แต่มีพี่สองคนที่ร่วมทริปกัน เค้า charter ในช่วงเย็น จึงมีภาพมาฝากกันนิดหน่อยครับ ให้พอดูเป็นไอเดียว่านั่ง helicopter แล้วจะเห็นอย่างไรบ้าง
Trip schedule
กล่าวถึงข้อมูลคร่าวๆกันไปซะยาวแล้ว กล่าวถึงตารางทริปของผมบ้าง ทริปนี้ผมไปฮาวายทั้งหมด 5 วัน 4 คืน โดยพักที่เมือง Lihue ในเกาะ Kauai คืนนึง ผมมาที่ Kauai (สนามบิน Lihue รหัส LIH) เพราะอยากมานั่งเฮลิคอปเตอร์ชม Na Pali Coast อันโด่งดัง และพักที่ Hilo บนเกาะ Big Island อีกสามคืน เพื่อตามหาลาวานั่นเอง โดยไฟลท์ของ Asiana จะถึง Honolulu ตอนสิบโมงครึ่ง กว่าจะเคลียร์ผ่าน immigration ก็เที่ยง และต่อเครื่องไปถึง Lihue ก็บ่ายสอง ปกติแล้วการนั่งเฮลิคอปเตอร์ชม Na Pali Coast ถ้ามาตอนบ่าย แสงจะดีที่สุด แต่เพราะผมมาตอนบ่ายสอง กว่าจะออกจากสนามบิน ก็ไปไม่ทันเฮลิคอปเตอร์รอบสุดท้ายตอน 15.30 เลยต้องไปบินตอนเช้าวันที่สองของทริปแทน รอบแรก 8.30 แทน ซึ่งแสงไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ คงต้องกลับมาอีกรอบ (ถ้าเก็บเงินได้เพียงพอ 5555) จากนั้นผมก็บินไป Hilo ในตอนเที่ยง ต่อเครื่องที่สนามบิน Kahului (รหัสสนามบิน OGG) และนั่งเรือกับ Lava Ocean Tour ตอนเย็นวันนั้นเลย ก็ถือว่าไม่เสียเวลา เพราะช่วงกลางวัน แสงแข็ง ก็เป็นการเดินทางข้ามเกาะไป
วันที่สามผมตื่นตีสาม ไปถึง Kalapana ตอนตีสี่เศษๆ เช่าจักรยานไปดูลาวาลงทะเลที่ริมหน้าผา หากจะเช่าจักรยานตอนเช้ามืดต้องติดต่อล่วงหน้าไว้ตั้งแต่เย็นวันก่อนหน้านะครับ เพราะปกติบูทเช่าจักรยานจะเปิดแปดโมงเช้า ถ้าจะเช่าก่อนหน้านั้นทางทัวร์จะได้จัดคนมารอรับ ราคาเท่าเดิม $10 ต่อชั่วโมง ปั่นจักรยานกันเหนื่อยพอได้เหงื่อ และเย็นวันนั้นผมก็พักร่างสักหน่อย แวะไปถ่ายภาพน้ำตก Akaka Falls อยู่ไม่ไกลจาก Hilo และหลังพระอาทิตย์ตกแล้วก็ไปถ่ายทางช้างเผือกกับปากปล่องภูเขาไฟ Kilauea ที่ Kilauea Overlook ใน Hawaii Volcano National Park
ชมวิวของลาวาไหลลงทะเลที่ริมหน้าผา
วันที่สี่ ตอนเช้าไป Boat Tour กับ Kalapana Cultural Tour และตอนบ่าย เช่าจักรยานอีกรอบเพื่อไปหามุมถ่ายภาพลาวาไหลลงทะเลเพิ่มเติม ตอนแรกผมเล็งกว่าจะจ้างไกด์เพื่อให้เค้าพาไป surface flow ด้วย แต่โชคไม่ดีที่วันนี้ ไกด์บอกว่า surface flow น้อยมาก เลยต้องพับแผนไป เปลี่ยนเป็นเช่าจักรยานแทน ส่วนวันสุดท้าย ตอนเช้าผมมาถ่ายภาพพระอาทิตย์ริมทะเลที่ Hilo สายๆก็ขึ้นเครื่องไป Honolulu และต่อเครื่องกลับไทยของสายการบิน Asiana ในตอนเที่ยงครับ
ข้อมูลเกี่ยวกับลาวาและอากาศที่ Big Island
เราสามารถติดตามอัพเดตการไหลของลาวาได้จาก Hawaii Volcano Observatory ซึ่งเป็นเวบของ USGS ของอเมริกา มีข้อมูลอัพเดตแบบ real-time แทบทุกวัน ในเวบนี้ หน้าที่เป็นประโยชน์มากคือ lava map ซึ่งจะบอกว่าตอนนี้ลาวาอยู่ตรงไหน และแผนที่จะอัพเดตตลอดเมื่อลาวาเปลี่ยนทิศทางไปครับ
แผนที่แสดงทิศทางการไหลของลาวา และลาวาที่ไหลมาเป็นแขนงใหม่ (สีแดง)
ภาพนี้คือ Thermal map จุดสีขาวๆคือบริเวณที่อุณหภูมิสูง ซึ่งจะบ่งชี้ว่ามีลาวาใกล้พื้นผิวมาก หรือคือ surface flow นั่นเอง
กราฟอีกกราฟที่มีประโยชน์มากคือ Electronic Tilt ซึ่งจะวัดสถานะของแมกมาใต้ปากปล่อง Pu’U ‘O’O (กราฟสีน้ำเงิน) กราฟนี้จะบ่งบอกสถานะ inflation ของแมกมา หรือแปลง่ายๆคือการขยายตัว และเมื่อมี inflation มาก (อย่างในภาพคือ peak วันที่ 1 กันยายน) ก็จะมีการขยายตัวของแมกมา และมีความดันขึ้นสูงมาก ทำให้ลาวาไหลออกมามาก และเมื่อมี inflation ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า surface flow เกิดขึ้นมากครับ และพอถัดมาอีกสองวัน กราฟก็ตกลงไป สถานะนี้เรียกว่า deflation กราฟนี้ดูได้จากเวบของ Hawaii Volcano Observatory เช่นกัน
บางคนอาจจะงงว่า inflation เกี่ยวข้องอะไรกับ surface flow อันนี้ผมเองอาจจะไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญเรื่องลาวานะครับ เพราะผมเองไม่ได้เรียนจบทางธรณีวิทยามา แต่ก็รวบรวมข้อมูลจากที่อ่านๆเอาในอินเตอร์เนตครับ
การไหลของลาวานั้นจะมีสองแบบคือ แบบที่ไหลบนพื้นผิวโลกด้านนอก หรือ surface flow นึกภาพลาวาที่ไหลออกจากปากปล่องภูเขาไฟ ประมาณนั้นเลยครับ หรือการที่ลาวาไหลจนทำให้ถนนตัดขาดก็เหมือนกัน และพอมี surface flow มากๆเข้า ลาวาก็ทับถมกับ และด้านบนที่เคยไหล ก็จะเย็นจนแข็งตัวเป็นก้อนหิน โดยที่ด้านล่างยังมีลาวาไหลอยู่ และการไหลของลาวาจะเปลี่ยนเป็น lava tube หรืออุโมงค์ลาวาแทน จริงๆแล้วลาวา (หรือแมกมา) เลือกที่จะไหลแบบ lava tube ที่อยู่ใต้ดินมากกว่า เพราะไหลได้เร็วกว่า ไม่ต้องสัมผัสอากาศด้านนอกทำให้แข็งตัว และทำให้การไหลช้าลง ดังนั้นเมื่อลาวาไหลลงทะเลช่วงแรกๆ การไหลจะเป็น surface flow อย่างตอนแรกที่ลาวาไหลลงทะเลเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมปี 2016 นี้ เป็น surface flow ทั้งหมด แต่ผ่านไปสองอาทิตย์ก็จะเริ่มฟอร์มตัวเป็น lava tube และลาวาเปลี่ยนทางไหลเป็นใต้ดินแทน และช่วงที่ผมไป ลาวาเกือบ 95% ไหลอยู่ใน lava tube ทั้งหมด คือจากปากปล่องภูเขาไฟ มาโผล่อีกทีคือที่ริมทะเลเลย ทำให้พื้นผิวบริเวณหน้าผาค่อนข้างปลอดภัยสำหรับการเดินชมลาวาลงทะเลจากหน้าผา
Surface flow ใกล้กับจุดที่ลาวาลงทะเล
เมื่อการไหลของลาวาเกือบทั้งหมดอยู่ใน lava tube เราจึงแทบไม่เห็น surface flow เลย การจะเห็น surface flow ผมจึงคาดว่าจะเป็นบริเวณที่ลาวาแตกแขนงออกเป็นสายใหม่เท่านั้น เช่น ตอนที่เกิด ocean entry อันที่สอง เป็นต้น แต่ที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้าว่า inflation มีผลกับ surface flow ก็คือ เมื่อมี surface flow จะมีการขยายตัวของแมกมา มีความดันสูงขึ้น ท่อลาวาที่มีอยู่เดิมๆรองรับความดันที่พุ่งสูงขึ้นไม่ไหว จีงมีรอยรั่วออกมาเล็กน้อย ก็เหมือนท่อน้ำที่มีขนาดหนึ่ง รองรับการไหลของน้ำได้ระดับนึง พอน้ำไหลมากๆเข้าท่อรับไม่ไหว หากท่อตรงไหนที่มีความไม่สมบูรณ์ ก็จะมีรอยรั่วออกมา ซึ่ง lava tube ไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น มันเป็นแค่หินลาวาที่รอบๆแข็งตัวและเกิดเป็นท่อขึ้นมาเท่านั้นเอง เมื่อแมกมาเยอะขึ้นมากๆก็จะมีการรั่วออกมาด้านข้าง และหลุดออกมาด้านนอก ไหลออกมาที่พื้นผิวด้านนอก เกิดเป็น surface flow นั่นเอง สรุปง่ายๆก็คือ วันไหนที่เราเห็นกราฟ electronic tilt พุ่งสูงขึ้นเมื่อไหร่ วันนั้นก็จะมี surface flow เยอะขึ้น ถ้ากราฟมันเริ่มลง นั่นแปลว่า วันนี้เราอาจจะเห็น surface flow ได้บ้าง แต่พรุ่งนี้มันจะหดตัวและหากยากขึ้นไปอีก
สำหรับอากาศที่ฮาวาย ไม่ต้องหวังอะไรมากครับ 5555 อากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงบ่อยมาก เนื่องจากฮาวายเป็นเกาะโดดๆกลางมหาสมุทรแปซิฟิก อิทธิพลของมหาสมุทรจึงเยอะมาก และอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก บางทีพายุก็เข้า ส่วนมากที่ผมเจอคือ แม้ว่ารอบๆจะฟ้าใส แต่เมฆจะยังก่อตัวอยู่บริเวณกลางเกาะซึ่งเป็นบริเวณภูเขา ซึ่งเมฆเหล่านี้ก็มีโอกาสไหลมารอบๆเกาะ และเกิดเป็นเมฆฝนได้เช่นกัน ดังนั้นแม้อากาศจะดี ฟ้าใส ไม่มีเมฆในบริเวณมหาสมุทรรอบๆเลย แต่ก็มีโอกาสที่ฝนจะตกได้เสมอ
วันที่ฝนตก ควันจะเยอะมากๆๆ
สรุป link สำหรับข้อมูล และทัวร์ต่างๆ
USGS Hawaii Volcano Observatory ข้อมูลทางสถิติ ตัวเลข webcam แผนที่ ทุกอย่างอยู่ในเวบนี้ครับ
http://hvo.wr.usgs.gov/
Kalapana Cultural Tour มี hiking tour, bike rental, boat tour
http://www.kalapanaculturaltours.com/
https://www.facebook.com/seehotlava/
Epic Lava มี Hiking Tour
http://www.epiclava.com/
https://www.facebook.com/Epiclavatours/
Lava Ocean Tour มี boat tour ลำใหญ่
http://lavaocean.com/
http://www.seelava.com/big-island-boat-tours/lava-boat-tour/
https://www.facebook.com/Lavakai
Paradise Helicopter นั่ง ฮ. ชมลาวา
https://paradisecopters.com/
https://www.facebook.com/ParadiseHelicopters/
บริษัทอื่นๆเช่น Kalapana Lava Boat, Lavaland, LavaHikes ที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่ยกมาให้เป็นตัวเลือกครับ
แถมทิ้งท้ายครับ ถ้ามาฮาวาย ของโปรดที่ผมกินแทบทุกวันคือ poke bowl หรือปลาดิบหั่นเป็นลูกเต๋า ปรุงรส ราดบนข้าว เป็นอาหารของฮาวายที่ได้อิทธิพลมาจากอาหารญี่ปุ่น ผมติดใจมากๆ ถ้ามาฮาวายอย่าลืมหากินนะครับ อย่างภาพด้านล่างนี้เป็น poke bowl จากร้าน Fish express ที่เกาะ Kauai ผมยกให้เป็น poke bowl ที่อร่อยที่สุดที่กินมาในทริปเลย
Poke Bowl
You must be logged in to post a comment.