หลายๆคนคงเคยเห็นภาพทะเลสาบน้ำแข็งในแคนาดาที่มีฟองอากาศถูกกักเก็บอยู่ใต้ผืนน้ำแข็ง มีหลายๆเวบที่แชร์กัน อย่างเช่น amuzingplanet mymodernmet หรือ buzzfeed ซึ่ง Abraham Lake นี้โด่งดังมากๆในหมู่ช่างภาพ ในหน้าหนาวนี้มีคนมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย จริงๆแล้วปรากฏการณ์นี้หาดูได้ไม่กี่ที่ เพราะส่วนมากแล้วทะเลสาบส่วนใหญ่จะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะในหน้าหนาวครับ
แต่สิ่งที่ทำให้ Abraham Lake พิเศษกว่าที่อื่นนั่นคือสถานที่ตั้งอยู่ในช่องเขาที่ลมพัดแรงตลอดเวลา ทำให้หิมะแทบไม่เกาะอยู่บริเวณผิวหน้าของทะเลสาบเลย ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่บนหน้าน้ำแข็งได้อย่างชัดเจน ที่นี่เป็นทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกันแม่น้ำ North Saskatchewan River ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับอ่างเก็บน้ำของบ้านเรา
ฟองอากาศเหล่านี้เป็นฟองของแก๊สมีเทน ซึ่งปล่อยออกมาจากพืชที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ ซึ่งแก๊สเหล่านี้ก็ถูกปล่อยออกมาอยู่เรื่อยๆอยู่แล้ว เมื่อเริ่มเข้าหน้าหนาว ผิวหน้าของทะเลสาบเริ่มก่อตัวเป็นน้ำแข็ง พอฟองอากาศผุดขึ้นมาก็จะถูกกักเก็บไว้ที่ผิวหน้าชั้นบนสุด และพออากาศหนาวขึ้นเรื่อยๆ ชั้นน้ำแข็งก็เริ่มหนาขึ้นจากบนลงล่าง และฟองอากาศก็ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ และถูกแช่แข็งไว้ในชั้นถัดมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นชั้นของฟองอากาศที่สวยงามมากๆ
ปรากฏการณ์นี้จริงๆแล้วเห็นได้หลายแห่งครับ อย่างในแคนาดาก็มีหลายที่เลย ไม่ว่าจะเป็น Lake Minnewanka ในรัฐ Alberta หรือ Talus Lake ในรัฐ Yukon แต่การเดินทางจะยากกว่าการไป Abraham Lake อย่างเช่น Lake Minnewanka นี้ถ้าอยากเห็นฟองอากาศต้อง ice skating เข้าไปหลายสิบกิโล ส่วน Talus Lake ก็ถนนเข้าไม่ถึง ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไป ผมเองก็เคยเห็นช่างภาพไทยถ่ายภาพฟองอากาศมาจากทะเลสาบไบคาลด้วย
สำหรับ Abraham Lake ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือกลางเดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอากาศในแต่ละปี บางปีอากาศหนาวช้า สิ้นเดือนธันวาแล้วน้ำในทะเลสาบยังไม่แข็งมากพอ ชั้นน้ำแข็งก็จะไม่ปลอดภัยที่จะลงไปเดินเล่นครับ ผมเคยไปมาตอนต้นเดือนมกราคม (ช่วงปีใหม่) ปรากฏว่าไปได้แค่จุดเดียว เพราะจุดที่สวยอีกจุดยังไม่ปลอดภัยที่จะเดินลงไปสำรวจครับ ความหนาของน้ำแข็งที่ปลอดภัยสำหรับการเดินที่ผมแนะนำคือประมาณ 20 เซนติเมตรขึ้นไป แต่บางปีอากาศหนาวนาน ก็อาจจะไปได้ถึงกลางเดือนกุมภา พอเริ่มปลายๆเดือนกุมภา ผมคิดว่าชั้นน้ำแข็งจะเริ่มละลาย และไม่ปลอดภัยที่จะลงไปเดินแล้วครับ มันคงไม่สนุกแน่ๆถ้าน้ำแข็งแตกแล้วตัวเราทั้งตัวตกลงไปในน้ำในทะเลสาบที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หากปีนขึ้นมาไม่ทัน อาจจะตายในเวลาไม่กี่นาทีจาก hypothermia ครับ
การเดินทางนั้นไม่ยากครับ Abraham Lake นั้นตั้งอยู่ริม Highway หมายเลข 11 ซึ่งถนนเส้นนี้เปิดตลอดปี มีการดูแลรักษาที่ดีมากๆในตลอดหน้าหนาว (ดีกว่า Highway 93 ที่วิ่งระหว่าง Lake Louise – Jasper) ผมแนะนำว่าให้บินมาลงที่ Calgary แล้วจะสามารถมาได้สองเส้นทางคือ
- วิ่งมาทาง Trans-Canada Highway 1 ผ่าน Banff แล้วพอถึง Lake Louise ให้แยกเข้า Highway 93 ซึ่งเป็นส่วนต่อของ Icefield Parkway ไป Jasper แล้วเลี้ยวขวาเข้า Highway 11 Saskatchewan River Crossing
- ขับรถจาก Calgary ขึ้นเหนือไปทาง Edmonton ด้วย Highway 2 แล้วแยกเข้า Highway 11 ที่ Red Deer ซึ่งเส้นทางนี้จะเร็วกว่า แต่วิวสวยน้อยกว่าเส้นทางแรกครับ
ที่ Abraham Lake มีที่พักอยู่ที่เดียวคือ Aurum Lodge ซึ่งจะสะดวกสำหรับการดูฟองอากาศมากๆ เพราะใกล้สุดๆ ขับรถเพียง 5-10 นาทีก็ถึงจุดถ่ายภาพแล้ว ที่นี่มีห้องพักอยู่ไม่กี่ห้อง มีทั้งแบบ lodge หรือแบบห้องพักพร้อมครัว แนะนำว่าควรจองล่วงหน้าครับ แต่ถ้าจองไม่ทัน ก็จะมีตัวเลือกที่พักอื่นๆอยู่ในเมือง Nordegg หรือ Lake Louise ครับ ปั้มน้ำมันที่ใกล้ที่สุดก็คือ Nordegg เช่นกัน ที่ Saskatchewan River Crossing มีปั้มน้ำมันก็จริง แต่จะปิดในหน้าหนาวครับ ฉะนั้นถ้ามาจากทาง Icefield Parkway ก็จะมีปั้มน้ำมันสุดท้ายคือ Lake Louise นั่นเองครับ ให้เติมมาให้เต็มตั้งแต่ก่อนออกจาก Lake Louise เลยนะครับ
ผมมีจุดถ่ายภาพอยู่ 4 จุดมาแนะนำครับ
- Preacher’s Point (พิกัด 52.090859, -116.423837) จุดนี้ไปง่ายที่สุด อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้สุดของทะเลสาบ หากมาจาก Aurum Lodge ให้เลี้ยวซ้ายไปทาง Lake Louise จุดนี้เป็นจุดที่ตื้นมากๆ ความลึกของทะเลสาบช่วงที่ลึกที่สุดไม่ถึงหัวเข่าแน่นอนครับ ประมาณว่าถ้าน้ำแข็งแตก เราก็ยังปลอดภัย และจุดนี้จะเป็นจุดที่น้ำแข็งแข็งตัวทั้งหมดก่อนใครเพื่อน สามารถเดินข้ามฝั่งทะเลสาบได้เลย และก็ยังมีฟองอากาศเยอะอีกด้วย ถ้ามาทีนี่ก็ โอกาสเจอแทบจะ 100% เลยครับ และยังมีน้ำแข็งแตกเป็นรูปทรงสวยงามให้เป็นฉากหน้า และมีฉากหลังเป็นภูเขายอดแหลมในการถ่ายภาพอีกด้วย จุดนี้สามารถถ่ายได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกครับ
Preacher’s Point
- จุดที่สองนี้ไม่มีชื่อ แต่ผมเจอโดยบังเอิญครับ มีถนนเล็กๆลงไปถึงริมทะเลสาบ อยู่ห่างจาก Preacher’s Point ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 3 กม. ครับ จุดนี้มีฟองอากาศเยอะมากๆทีเดียว แต่บางปีอาจจะมีหิมะคลุมเยอะหน่อยเพราะมีเนินเขาบังลม ทำให้ลมไม่แรงตลอดเวลา และแรงเพียงพอที่จะพัดหิมะออกไปทั้งหมดครับ การที่มีหิมะปกคลุมจะทำให้หน้าน้ำแข็งไม่ใสด้วยครับ
- Belly of Abraham จุดนี้จะเป็นคุ้งน้ำใหญ่ ลมแรง หากตั้งต้นจาก Aurum Lodge ให้เลี้ยวขวาไปทาง Nordegg ขับไปอีก 5 กม. ก็จะเห็นทะเลสาบอยู่ข้างๆถนน ให้จอดรถข้างทางเลยครับ จุดนี้จะเห็นภูเขาใหญ่รูปทรงสวยงาม เป็นฉากหลังในภาพที่ดีทีเดียว ภูเขาอื่นๆรอบตัวก็สามารถถ่ายได้เช่นกัน เรียกได้ว่ามีฉากหลังอยู่รอบทิศเลย จุดนี้ก็สามารถถ่ายได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเช่นกัน
- บริเวณสันเขื่อน เป็นจุดล่าสุดที่ผมเพิ่งค้นพบในปีล่าสุดนี้ครับ ให้ขับรถไปทาง Nordegg จนถึงทางแยกเข้าสันเขื่อน ทะเลสาบนี้จะมีสันเขื่อนอยู่สองจุด ให้แวะจุดแรกซึ่งจะเป็นสันที่เล็กกว่า แต่จะมีฟองอากาศเยอะกว่ามากครับ เสียดายที่แม้ว่าจุดนี้ฟองอากาศและหน้าน้ำแข็งจะสวย แต่ไม่มีฉากหลังให้ถ่ายเลย
สำหรับ season 2015-2016 นี้อากาศไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ ช่วงปลายเดือนธันวาคม อากาศเย็นมาก พายุหิมะเยอะมาก ทำให้หลายส่วนของ Abraham Lake ปกคลุมไปด้วยหิมะ และพอต้นเดือนมกราคม อากาศก็อุ่นขึ้นมาอย่างประหลาด ซึ่งก็ทำให้หน้าน้ำแข็งละลาย พอตอนกลางคืนอากาศเย็นลง น้ำแข็งก็แข็งตัวอีกครั้ง เมื่อมีวัฏจักรน้ำแข็งและลายและแข็งตัวใหม่หลายครั้ง จะทำให้ผิวหน้าของน้ำแข็งขุ่น ไม่ใส และเห็นฟองอากาศไม่ชัดเจนครับ ผมไปที่ Belly of Abraham ก็พบว่ามีส่วนที่น้ำแข็งละลายอยู่หลายจุดเลยทีเดียว ซึ่งบริเวณพวกนี้แหละครับที่อันตรายมากๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่าน้ำแข็งด้านล่างนั้นยังจะหนาพอ ปลอดภัยในการทิ้งน้ำหนักลงไปเหยียบหรือเปล่า เวลาที่ผมเดิน ผมก็จะพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณน้ำแข็งละลาย หรือบริเวณที่เห็นเป็นแอ่งน้ำครับ
อุปกรณ์ที่สำคัญมากๆคือ Crampons ซึ่งจะเป็นหนามแหลมๆเอาไว้สวมกับรองเท้า เอาไว้เดินบนน้ำแข็ง ทำให้รองเท้าเรายึดเกาะบนน้ำแข็งได้ไม่ลื่นครับ สามารถหาซื้อแบบถูกๆได้ใน amazon ในราคาไม่เกิน $20 และถ้าเจอฟองอากาศสวยๆต้องพยายามอย่าเดินทับนะครับ เพราะว่า crampons นี้สามารถสร้างรอยข่วนบนน้ำแข็งได้ เดี๋ยวฟองอากาศสวยๆที่อุตส่าห์เจอจะมีรอยตำหนิเสียก่อน
สำหรับอุปกรณ์กล้องก็ไม่มีอะไรมากครับ ผมใช้ขาตั้งกล้องที่ตั้งต่ำได้มากๆ กางราบได้ ใช้เลนส์มุมกว้างสำหรับเก็บภาพฟองอากาศเป็นฉากหน้า และภูเขาเป็นฉากหลัง แต่ต้องตั้งกล้องต่ำมากๆ หน้าเลนส์ห่างจากพื้นน้ำแข็งไม่ถึง 5 เซนติเมตร และก็ต้องทำ focus stacking ด้วยครับ แต่ถ้าจะถ่ายภาพฟองอากาศแบบ abstract ก็สามารถใช้เลนส์ normal ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์มาโครก็ได้ครับ เพราะเราไม่ได้ต้องการกำลังขยายขนาดนั้น
สรุปทิ้งท้าย หากมีโอกาสได้ไปจริงๆ เผื่อเวลาในการสำรวจจุดถ่ายภาพสักหน่อยนะครับ เพราะการหาฟองอากาศนั้นไม่ยากมาก แต่ถ้าจะเอาฟองสวยๆเป็นฉากหน้านั้นไม่ง่ายเลย เผื่อเวลาเดินวนสัก 1-2 ชั่วโมงก่อนเวลาถ่ายจริงครับ
You must be logged in to post a comment.