บทความนี้เป็นบทความแนะนำหลักคร่าวๆในการถ่ายภาพแสงเหนือนะครับ เขียนจากประสบการณ์ตรง และปรับข้อมูลมาจากเวบอื่นๆ
สำหรับแสงเหนือ หรือที่เรียกกันว่าออโรร่า (Northern Lights, or Aurora Borealis) นั้น ก็คือแสงเรือง อาจจะมีสีเขียวหรือสีแดง เกิดขึ้นบนท้องฟ้า เนื่องจากอนุภาคพลังงานสูงเกิดการชนกันในชั้นบรรยากาศด้วยการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กโลก และในหลายๆครั้งจะถูกเหนี่ยวนำจากพายุสุริยะ ซึ่งมาจากดวงอาทิตย์ และในท้ายสุดจะคลายพลังงานออกมาในรูปแบบของแสง รายละเอียดเพิ่มเติมและข้อมูลเชิงฟิสิกส์(ที่ผมไม่ถนัดนัก 555) สามารถดูใน wikipedia ภาษาไทยได้ ที่นี่
เนื่องจากแสงเหนือนั้นมีผลจากดวงอาทิตย์ค่อนข้างมาก ดวงอาทิตย์เองนั้นจะมีวัฏจักรทุกๆ 11 ปีครับ เรียกว่า solar maximum ซึ่งในทุกๆ 11 ปีนี้จะ active มากที่สุด ครั้งที่แล้วเกิดเมื่อปี 2001-2002 ก็เป็นช่วงเวลาสูงสุดในรอบก่อน เมื่อบวก 11 ปี ก็จะอยู่ในช่วงนี้นั้นเองครับ ถ้าพลาด 2014 ไป ก็อาจจะต้องรอนานถึง 11 ปีเลยทีเดียว ตามกราฟด้านล่างซึ่งระบุจากจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ระบุ solar cycle ครับ น่าเสียดายที่ช่วงเวลาพีครอบนี้ ไม่ได้มากเท่าเมื่อปี 2001 ครับ
http://www.swpc.noaa.gov/SolarCycle/
http://www.mps.mpg.de/projects/sun-climate/var_body.html
เริ่มกันเลยดีกว่าครับ
1
Location
การเลือก location นั้นสำคัญมากครับ เพราะ location ต้องอยู่ในละติจูดไปทางขั้วโลกมากพอที่จะสามารถเห็นแสงเหนือ ดูได้จาก Aurora Oval ซึ่งคือแนวที่ออโรร่าพาดผ่านโลก โดยมากแล้วจะเป็นวงรี และจุดศูนย์กลางนั้นไม่ได้อยู่ที่ขั้นโลกเหนือครับ ดูได้จากแถบสีเขียวดังภาพ (ผมนำภาพมาจาก Geophysical Institute ที่อลาสกา) เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพาดผ่านตอนเหนือของรัสเซีย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน พาดผ่านไอซ์แลนด์ทั้งประเทศ และบางส่วนของกรีนแลนด์ รวมไปถึงประเทศแคนาดาเกือบทั้งประเทศ และจบที่รัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกา
ถ้าถามว่าส่วนไหนหนาวสุด ก็คงต้องตอบว่าอลาสกา หรือรัสเซียครับ ผมเคยไปอลาสกาในหน้าหนาว อุณหภูมิปกติ -15C และหนาวสุดที่เจอ -37C (บวกปัจจัยลมแรงทำให้หนาวถึง -53C) ส่วนตำแหน่งที่อุ่นที่สุดคือไอซ์แลนด์ เพราะว่ามีกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream พาดผ่าน ทำให้อากาศไม่หนาวเย็นเหมือนชื่อประเทศ ผมไปไอซ์แลนด์มาปลายเดือนตุลา อากาศไม่หนาวอย่างที่คิดครับ ต่ำสุดที่เจอประมาณ -10C และอุณหภูมิปกติจะอยู่ราวๆ 0 องศาเซลเซียสครับ
ฉะนั้นถ้าใครถามว่าถ่ายที่ไหนดี ผมแนะนำ “ไอซ์แลนด์” แน่นอนครับ ถ่ายที่ๆไม่หนาวเนี่ยสบายที่สุดแล้ว 5555
Nikon D800, Sigma 15mm fisheye f/2.8, 30s, ISO 2000, f/2.8
หากเราถ่ายที่ละติจูดต่ำลงมา เช่นภาพนี้ถ่ายที่ Montana ก็จะเห็น Aurora จางๆอยู่ปลายขอบฟ้าแบบนี้ครับ ภาพนี้ใช้ fisheye เลยเบี้ยวๆโค้งๆ นิดหน่อย ตัว aurora นั้นไม่แรงมาก ผมเลยซัดไป 30s
แสงใต้ก็มีนะครับ แต่ไม่ค่อยเห็นได้บ่อยเท่า เพราะว่าต้องไปเห็นจากทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น จะมีบางครั้งหาก aurora activity สูงมาก ก็จะมีโอกาสเห็นที่ปลายขอบฟ้าทางเกาะใต้ของประเทศ New Zealand ครับ
พยากรณ์แสงเหนือ เป็นไปได้ไหม?
เป็นไปได้ครับ แต่การพยากรณ์นั้นยากมากๆ ทุกอย่างเป็นแค่ความเป็นไปได้ที่มาก หรือน้อย แต่จริงๆแล้วก็พอทำนายล่วงหน้าได้อย่างมาก 2 วัน ซึ่งถ้าเราวางแผนจะไปจากเมืองไทยแล้ว ในทางปฏิบัติมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ เพราะคงไม่มีใครยอมจ่ายตั๋วแพงๆ แล้วจองแบบ last minute อย่างแน่นอน แค่ระยะเวลาบินก็เกือบๆวันแล้ว
ที่เป็นเหตุผล 2 วัน เพราะ Aurora ที่แรงๆมักเกิดจาก Solar flare ซึ่งเกิดขึ้นตามจุดดับบนดวงอาทิตย์ (sunspot) เมื่อ Solar flare นั้นมีความแรงมากพอ (แบ่งตาม class ตั้งแต่เบามาก จนถึงแรงมากคือ A, B, C, M และ X) และหาก Solar Flare นั้นมีการปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูงออกมา (ภาษาอังกฤษเรียก coronal mass ejection หรือ CME) และทิศทางนั้นพอเหมาะพอเจาะที่อนุภาคเหล่านั้นจะพุ่งตรงมาทางโลก อนุภาคพวกนั้นก็ใช้เวลาประมาณ 2-4 วันที่จะเดินทางมาถึงโลก และเหนี่ยวนำให้เกิดแสงเหนือในที่สุด การเดินทางจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับความเร็วของ CME นั้นเอง
อย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกๆ solar flare จะทำให้เกิด aurora นะครับ ต้องดูดีๆว่ามันมีทั้ง CME และตำแหน่งของ flare นั้นพอดีกันด้วย (ดูจากตำแหน่งของ sunspot ที่เกิด flare)
แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็น “โอกาส” ที่จะเกิดมากขึ้นครับ แสงเหนือก็ยังเป็นปรากฏการณ์แบบสุ่มเท่านั้น ในช่วงเวลาปกติที่ไม่มี CME มาปะทะโลก ก็สามารถเกิดแสงเหนือได้ แต่จะเห็นแบบจางๆ เป็นปื้นๆอยู่บนท้องฟ้า อาจจะเป็นปลายขอบฟ้า หากมี CME ปะทะแล้ว จะเห็นอยู่กลางฟ้าได้ด้วยตาเปล่า เห็นแสงเหนือเป็นริ้วสวยงามมากมาย และเห็นมันค่อยๆเคลื่อนไว ราวกับเต้นระบำบนท้องฟ้าด้วยครับ
ฉะนั้น ถ้าเกิดคุณได้อยู่ในละติจูดสูงมากพอ ฟังข่าวแล้วมี solar flare ที่แรง และตำแหน่งพอดี ช่วงเวลากลางคืนมืดสนิท ก็ดูพยากรณ์อากาศเตรียมไว้ได้เลยครับ ถ้าฟ้าเปิด โอกาสเจอสูงมาก หากคนไทยอยากเห็นแสงเหนือ ก็ควรจัดทริปไปประเทศที่ผมกล่าวถึงข้างต้น เผื่อเวลาไว้ 5-10 วัน เผื่อสำหรับอากาศไม่เป็นใจ และรอเวลาที่เอื้ออำนวยครับ
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 15s, ISO 1600, f/2.8
North of Anchorage, Alaska
ในบางครั้งที่ activity ของแสงเหนือไม่แรง เราก็จะได้แสงเหนือเป็นปื้นๆแบบนี้แหละครับ
2
Equipment
กล้องอะไรบ้างที่สามารถถ่าย aurora ได้?
ผมขอตอบว่า ทุกกล้องครับ คอมแพค mirrorless หรือจะเป็น DSLR อะไรก็ได้ที่สามารถเปิดชัตเตอร์ได้นานถึง 15 วินาที และสามารถดัน ISO ได้ถึง 1600 ขึ้นไป ก็สามารถถ่ายได้หมด แต่คุณภาพของภาพจะแตกต่างกันออกไปครับ
สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือ “ขาตั้งกล้อง” ครับ เพราะเราต้องเปิดชัตเตอร์ในเวลาที่นาน นานเกินที่จะถือด้วยมือเปล่าโดยที่ภาพไม่สั่นไหว
หากคุณใช้ DSLR ก็มีการเตรียมตัวดังนี้ครับ
- หาขาตั้งกล้องที่มั่นคง ในหลายๆประเทศที่ละติจูดใกล้ขั้วโลก เช่น ไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ อเมริกา(อลาสกา) นั้นมีโอกาสลมแรง การใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคง ช่วยทำให้ภาพคมชัด ไม่สั่นไหวครับ
- สายลั่นชัตเตอร์ ช่วยให้เรากดชัตเตอร์ได้โดยที่ไม่ต้องสัมผัสกล้อง ทำให้ลดการสั่นไหวจากการกดได้อีกทางครับ หากไม่มีสายลั่นก็อาจจะใช้การตั้งเวลาได้ แต่จะไม่สะดวกเท่า ถ้าไม่มีจริงๆก็พยายามใช้นิ้วกดชัตเตอร์ให้เบาที่สุดครับ
- กล้อง หากมีกล้อง full frame จะเป็นประโยชน์กว่ากล้องตัวคูณครับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกล้อง full frame มี noise ที่น้อยกว่าในสภาวะ ISO สูงๆ โดยทั่วไปแล้วการถ่าย aurora จะใช้ ISO ประมาณ 1600-6400 ขึ้นอยู่กับความแรงของ aurora ในคืนนั้นๆ กล้องตัวคูณ เมื่อใช้ ISO เกิน 1600 จะมี noise เยอะกว่า และทำให้คุณภาพของภาพตกลงมากครับ
- เลนส์ ผมแนะนำว่าควรใช้เลนส์มุมกว้าง และควรจะมีรูรับแสงที่กว้างด้วย เช่น Nikon 14-24 f/2.8 หรือ Canon 16-35 f/2.8 หรือจะเป็น fisheye ทั้งหลาย(ส่วนมาก f กว้างอยู่แล้ว) เลนส์ fix บางตัวก็ใช้ได้ เช่น 24 f/1.4 หรือ 20 f/2.8 เป็นต้น แต่ถ้ายิ่งถ่ายได้กว้างมาก จะเป็นประโยชน์ครับ เพราะ aurora นั้นอาจจะเกิดทั่วทั้งฟ้า การที่มีเลนส์กว้างไว้ก่อนจะทำให้โอกาสเก็บ aurora ที่มีฟอร์มสวยๆได้มากครับ และการถ่าย aurora นั้นก็จะเปิด f กว้างสุดเสมอ เพราะเพื่อลดการดัน ISO สูงๆครับ
- ฟิลเตอร์ ให้ถอดออกหมด โดยเฉพาะ UV filter เพราะว่าหากใส่ filter แล้ว คลื่นความถี่ของ aurora นั้นอาจจะรบกวน และทำให้เกิด pattern กวนตาได้ครับ แม้ตาจะมองไม่เห็น แต่เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว pattern เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้
- แบตเตอรี่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายๆคนมองข้ามครับ ควรมีอย่างน้อย 2 ก้อน สำหรับผมแล้ว จัดไปเลย สี่ก้อน เผื่อไว้ว่าแบตหมดตอนกลางคืน โอกาสที่จะเก็บภาพก็จะมลายหายไปทันทีครับ ยิ่งอากาศหนาวๆ บางครั้งแบตจะหมดเร็ว ขึ้นอยู่กับยี่ห้อด้วย ผมเคยใช้ Nikon EN-el-3e รุ่นนี้ประจุไฟหายไวมากๆเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า -30C ครับ ในสภาวะ -53C ที่ผมเจอนั้น แบตผมหมดสามก้อนในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็น EN-EL15 ไม่มีปัญหาครับ
- ผ้าเช็ดเลนส์ เผื่อไว้หากมีละอองฝน หิมะ หรือคราบฝ้าบนหน้าเลนส์ บางครั้งอาจจะเกิดได้ ภาพอาจจะขุ่นมัว หรือแม้แต่เกิด flare มากขึ้นครับ
- ไฟฉาย หากมีไฟฉายกำลังสูงจะดีครับ เอาไว้ส่องไฟหาจุดถ่ายรูป ส่องเปิดฉากหน้า ทำ light painting หรือแม้แต่ส่องไฟเพื่อหาโฟกัส
Nikon D700, AF-S 24mm f/1.4 N, 6s, ISO 1000, f/1.4
Murphy Dome, Fairbanks, Alaska
ภาพนี้ผมใช้เลนส์ f 1.4 ซึ่งทำให้ลดการใช้ ISO และถ่าย speed ได้เร็วขึ้นครับ แต่ข้อเสียคือเก็บแสงเหนืองามๆได้ไม่ทั่วท้องฟ้า เพราะมีแค่ 24mm เองครับ
3
Shooting
ปัจจัยหลักๆตอนถ่ายแสงเหนือนั้นมีแค่สามอย่างครับ
หนึ่งคืออากาศ (ผมไม่นับเรื่องอากาศหนาวนะครับ เป็นเรื่องส่วนบุคคล อิอิ) อากาศต้องเปิดครับ เรียกได้ว่าเห็นดาว เมื่อเห็นดาวแล้ว โอกาสเห็นแสงเหนือก็มีครับ แต่ถ้าฟ้าปิด แม้แสงเหนือจะเกิด ก็จะเกิดอยู่หลังเมฆ แห้วกันไป
สองคือแสงไฟจากเมือง หรือ light pollution ซึ่งการเลือกสถานที่ถ่ายนั้นควรจะห่างจากเมืองประมาณ 50-100km ยิ่งถ้าเป็นเมืองใหญ่ควรจะไกลกว่านั้น เพื่อไม่ให้แสงไฟจากเมืองนั้นมารบกวนแสงเหนือครับ โดยมากแสงจากเมืองจะออกโทนส้ม ทำให้แสงเหนือที่เราควรจะถ่ายได้ ไม่เขียวสวยอย่างที่ควรจะเป็นครับ
สาม ต้องอาศัย activity ของแสงเหนือที่แรง ซึ่งก็สามารถดูได้จาก CME ดังที่กล่าวไปข้างต้นครับ ในละติจูดที่สูงพอ ก็สามารถเห็นแสงเหนือจางๆได้บ้าง แต่ถ้า activity แรง ก็จะสวยเป็นหลายเท่าทวีคูณครับ ส่วนละติจูดต่ำๆนั้นก็พอมีโอกาสเห็นตามปลายขอบฟ้าครับ อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าช่วงปี 2012-2014 นั้นน่าจะเป็น solar maximum ซึ่งโอกาสเกิด aurora สูงที่สุดในรอบ 11 ปีครับ
ช่วงเวลาที่เกิดแสงเหนือ ถ้าอ้างอิงตามเวลา local time ของตำแหน่งที่ถ่าย มักเกิดเวลาห้าทุ่ม ถึงตีสามครับ แต่ก็ไม่ใช่หลักตายตัวนะครับ อาจจะเห็นได้ตั้งแต่ทันทีที่มืด สองสามทุ่ม หรือแม้กระทั่งรุ่งสางก็มีคนถ่ายมาแล้ว (แสงต้องไม่แรงเกินไปจนรบกวนออโรร่า) หากดูตาม real time aurora map ของ POES นั้นจะเห็นว่า aurora oval จะแกว่งไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับเวลาครับ และโดยมากตรงที่หนาที่สุด จะอยู่ราวๆเที่ยงคืนของ local time ณ พื้นที่นั้นๆครับ
หากเลือกวันคืนเดือนมืด ก็จะมีโอกาสเห็นได้มากขึ้น แม้ aurora จะไม่แรงนัก เพราะไม่มีแสงจันทร์มารบกวน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง แสงจันทร์อาจจะรบกวน aurora ได้ ขึ้นอยู่กับ activity ของคืนนั้นๆ ช่างภาพหลายๆท่านก็เคยถ่าย aurora ภายใต้แสงจันทร์มาแล้ว และข้อดีคือแสงจันทร์จะช่วยเปิดฉากหน้าให้สว่างขึ้นด้วยครับ เทียบกับคืนเดือนมืดซึ่งเราอาจจะได้ถ่ายแต่ท้องฟ้าอย่างเดียวกับเงาดำๆของฉากหน้าด้วยซ้ำไป
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 6s, ISO 2500, f/2.8
Borgarnes, Iceland
ภาพนี้ตัวบ้านสว่างได้ด้วยไฟจากรถที่วิ่งผ่านไปผ่านมาบนถนนใหญ่ครับ แสงไฟจากเมือง Reykjavik สามารถเห็นได้ตรงปลายขอบฟ้าครับ Reykjavik เป็นเมืองใหญ่ที่สุดใน Iceland นี่ขนาดอยู่ห่างจากเมืองมากกว่าห้าสิบกิโล แต่ก็ยังเห็นแสงไฟรบกวนมากพอควรครับ
เมื่ออากาศพร้อม ออโรร่าพร้อม โลเกชั่นพร้อม ฉากหน้าพร้อม ไม่มีแสงไฟจากเมือง เราก็เริ่มตั้งกล้องกันครับ
step ตามนี้เลย
- เซตค่ารูรับแสงไปกว้างสุดก่อน เริ่มมองหาแสงเหนือ ถ้าไม่แน่ใจว่าแสงเหนือเกิดหรือยัง ก็ลองถ่ายดูครับ ตั้ง ISO ไปสูงๆเลย (เราไม่ได้ต้องการนำภาพนี้ไปใช้งาน แต่ลองถ่ายเทสดูเท่านั้นว่าบวกหรือลบ มีหรือไม่มี) ผมมักใช้สูงสุดเท่าที่กล้องมีคือ 25600 และใช้ชัตเตอร์ประมาณ 1-5 วินาที หากเจอแสงเขียวๆล่ะก็ ใช่เลยครับ!!!!!
- เมื่อมั่นใจว่าแสงเหนือมาแล้ว เลือกจุดที่จะถ่าย ตากล้องหลายๆคนเลือกที่จะหาฉากหน้า หรือจุดสนใจ เช่น ภูเขา ประภาคาร น้ำตก แนวต้นไม้ (ถ่ายภาพเป็นเงาซิลูเอต) หรืออาจจะเป็นทะเลสาบ (เพื่อถ่าย reflection) ตั้งกล้องให้มั่น
- ทำสิ่งที่ยากที่สุด นั่นคือการโฟกัสครับ เราต้องใช้ระบบแมนนวล เพราะแสงของออโรร่านั่นสว่างน้อยเกินกว่าที่กล้องจะหาโฟกัสได้ ส่วนมากก็จะแมนนวลโฟกัสไปที่ infinity ครับ เลนส์สมัยใหม่ หากหมุนไปจนสุด มันจะเลย infinity และการหมุนเพื่อให้ตรงกับ infinity แม้มีสเกลให้แล้ว ก็ยังยากพอสมควร เพราะหากขยับไปนิดเดียวแล้วภาพก็อาจจะหลุดระยะชัดได้ ยิ่งเราใช้ f กว้างๆ ก็ทำให้ระยะชัดนั้นตื้นลงไปอีกครับ ทางเลือกที่ผมใช้คือ หาแหล่งกำเนิดแสงที่ไกลเกินกว่า 50 เมตร เช่น รถที่วิ่งผ่านไปผ่านมา หรือหากอยู่ใกล้เมือง ก็ใช้แสงไฟเมือง หรือแสงไฟบ้านเรือนใกล้ๆ แล้วใช้ระบบออโต้โฟกัสของกล้องช่วยหาโฟกัส เมื่อโฟกัสได้แล้วก็ตั้งกลับให้เป็นแมนนวลครับ หากจวนตัวไม่มีเลยจริงๆ ก็ใช้ไฟฉายกำลังสูง ส่องไฟไปในจุดที่ไกลๆ แล้วใช้ออโต้โฟกัสได้เช่นกันครับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบโฟกัสของกล้องแต่ละตัว ซึ่งความสามารถในการโฟกัสในที่แสงน้อยก็ไม่เท่ากัน เจ้าของกล้องย่อมรู้ดีที่สุดครับว่าขีดจำกัดของกล้องอยู่ที่ไหน แสงไฟเล็กน้อยเท่าใดที่เพียงพอให้กล้องโฟกัสได้
- เมื่อโฟกัสได้แล้ว รูรับแสงตั้งไปกว้างสุดแล้ว โดยมากผมจะเริ่มเซต ISO ที่ 3200 ก่อน และถ่ายโดยใช้ชัตเตอร์ไม่เกิน 10 วินาที เพราะแสงเหนือนั้นเคลื่อนที่ตลอดเวลา หากใช้มากกว่า 15 วินาทีแล้วจะไม่ได้ภาพเป็นม่านแสงเหนือที่สวยงาม หากโชคดีมากๆ เจอแสงเหนือแรงมากๆ ก็ให้ลดสปีดชัตเตอร์ก่อนครับ เพราะหากแสงเหนือเคลื่อนที่สวยงาม แล้วยิ่งชัตเตอร์เร็วเท่าไหร่ เช่น 1-2 วินาที โอกาสได้ภาพสวยก็มีสูงครับ เราสามารถลด ISO ลงอีกได้ เพื่อคุณภาพของไฟล์ที่ดีขึ้น ก็ต้องชั่งใจว่าจะปรับ ISO หรือปรับสปีดชัตเตอร์ครับ
- รูรับแสงนั้นผมจะให้กว้างสุดตลอด ในกรณีที่ต้องการเก็บฉากหน้าด้วย ซึ่งถ้าโฟกัสที่ infinity นั้นฉากหน้าจะไม่ชัด ผมก็จะใช้วิธีถ่ายมาสองภาพครับ ภาพแรกโฟกัสที่ infinity เก็บแสงเหนือ และอีกภาพโฟกัสที่ฉากหน้า (ซึ่งใช้ไฟฉายส่องช่วยหาโฟกัสได้) ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าไม่ควรเพิ่มรูรับแสงเพื่อเพิ่มระยะชัด เพราะแสงเหนือนั้นไม่ได้สว่างอยู่แล้ว การทำให้รูรับแสงแคบลงเป็นการลดปริมาณแสงที่จะเข้ากล้อง และจะต้องดัน ISO ทำให้คุณภาพของไฟล์ตกลงไปโดยปริยาย
- อย่าลืมถอดฟิลเตอร์ด้วยนะครับ 🙂
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 4s, ISO 6400
Borgarnes, Iceland
หากหันไปอีกด้าน ก็จะมีแสงจากเมืองน้อยกว่าครับ จังหวะที่ถ่ายรูปนี้ aurora ไม่แรงมาก และเป้นจังหวะที่ลองถ่ายเพื่อเทสในตอนแรกๆ เลยดัน ISO เยอะหน่อยครับ แถมเมฆเยอะด้วย แต่ผมชอบเป็นการส่วนตัวครับ
ภาพนี้ผมโชคดีครับที่ได้ aurora แรงมาก โฟกัสง่ายมากเลยครับ มันสว่างมากจนผมโฟกัสที่ภูเขาได้เลย
Nikon D700, Sigma 15mm fisheye f/2.8, 20s, ISO 800, f/2.8
Atigun Pass, Alaska
ภาพนี้ผมเสียดายที่น่าจะเร่ง ISO ขึ้นมากกว่านี้ และใช้ชัตเตอร์สั้นกว่านี้ ไม่งั้นคงได้แสงเหนือที่สวยกว่านี้ ประสบการณ์ที่ผิดพลาดก็เป็นบทเรียนให้เรียนรู้ต่อไปครับ
ผมก็มีสิ่งที่อยากแบ่งปันเพียงเท่านี้ครับ ขอให้โชคดี เจอแสงเหนือกันถ้วนหน้าครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.luminous-landscape.com/techniques/aurora.shtml
http://www.luminous-landscape.com/techniques/aurora-md.shtml
http://www.alaskaphotographics.com/blog/how-to-photograph-the-northern-lights-with-a-digital-camera/
http://www.lapland-travel-info.com/northern-light-photography.html
You must be logged in to post a comment.